Executive Summary | Legal Q&A EP 1
อัปเดตเมื่อ 27 เม.ย. 2563

แขกรับเชิญ - คุณเพียงพนอ บุญกล่ำ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักกฏหมาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
ผู้ดำเนินรายการ - ดร.ณัฐวุฒิกุลนิเทศ CEO, ADGES และที่ปรึกษาชมรม HCMสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย
วันนี้ ถือว่าเป็นการเปิด session ของ Legal Q&A เพื่อเป็นการสร้างชุมชนแห่งการแบ่งปัน ให้คำแนะนำ และความรู้ในด้านกฎหมาย เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมแบ่งปันความรู้ พูดคุยในรูปแบบสบายๆ แบ่งปันมุมมองที่เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ให้ทุกคนร่วมกันผ่านวิกฤต Covid -19 ในครั้งนี้ได้ โดยได้รับเกียรติจากคุณเพียงพนอ บุญกล่ำ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักกฎหมาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มาพูดคุยกับเราในวันนี้
เมื่อมองถึงประเด็นทางด้านกฎหมายกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ อะไรที่องค์กรควรถือเป็นจุดเริ่มเพื่อประเมินตัวเอง
หน้าที่ของทนาย (Lawyer) หรือนักกฎหมาย คือช่วยหา Solution หรือช่วยหาทางออกต่างๆ ซึ่งเป็นหน้าที่และบทบาทที่สำคัญมาก ทั้งนี้ องค์กร ลูกความ ผู้บริหาร หรือคณะกรรมการขององค์กร ก่อนที่จะทำการตัดสินใจอะไรบางอย่างก็มักจะหวังพึ่งพานักกฎหมายให้ช่วยพิจารณา ตรวจสอบข้อกฎหมาย หรือหา Solution ต่างๆ ให้ก่อนที่จะตัดสินใจ สิ่งที่เกิดขึ้นในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid -19 ทำให้เราเห็นว่าโลกและประเทศไทยจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น เราต้องเปลี่ยนวิธีคิด เพราะเราไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น เราต้องเตรียมตัวเองสำหรับสถานการณ์ Worst case หรือในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด และก็ Hope for the best ถ้าไม่เกิดขึ้นก็ดีไป ถึงแม้ในยามสถานการณ์ปกติ ถ้าสัญญาณเริ่มมีปัญหา เราต้องรีบทบทวนดูว่าจะเกิดผลอะไรขึ้นบ้าง
ดังนั้น ในฐานะนักกฎหมาย ต้องเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลง วิธีคิดและวิธีทำ หรือ Approach ต่างๆ จะไม่เหมือนเดิมเลย นอกจากนี้ อยากฝากให้นักกฎหมายทุกคนเห็นความสำคัญกับเรื่อง Probono คือการให้ความมรู้ทางด้านกฎหมาย มาแบ่งปันกับสังคมทั่วไป เพื่อช่วยเหลือให้คนที่ไม่มีโอกาสได้เข้าถึงความรู้หรือข้อมูลด้านนี้ หรือคนที่กำลังประสบปัญหาหรือเดือดร้อน มีโอกาสได้รับรู้ โดยมีผู้ให้ความรู้และข้อมูลเข้ามาช่วย จึงอยากเชิญชวนนักกฎหมายทุกท่าน มาร่วมกันสร้างสังคมแห่งการแบ่งปันนี้ ซึ่งทางเราก็จะมีการพูดคุยถึงรูปแบบ หรือช่องทางที่จะเผยแพร่ที่เหมาะสม และง่ายในการเข้าถึงของทุกคนต่อไป
จากสถานการณ์ของการระบาด Covid-19 ที่เกิดขึ้น IMF ได้มีบทวิเคราะห์โดยคาดการณ์ว่าจะทำให้คนไทยตกงานถึง 7,130,200 คน และหากสถานการณ์ยังยืดเยื้อไปอีก 2-3 เดือน ตัวเลขจะสูงถึง 10 ล้านคน ผลกระทบครั้งนี้กระทบทั้งโลกและทุกภาคส่วน สำหรับไทยเอง เครื่องจักรทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ การท่องเที่ยว และการส่งออก ถือว่ากระทบอย่างหนัก ถึงแม้จะดูว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้น แต่ตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีน โลกเองก็ยังมีปัญหาอยู่ กิจกรรมต่างๆ ทางธุรกิจก็จะยังไม่กลับมาภายในปีหรือ 2 ปีนี้ นอกจากนี้ ไทยเราเจอปัญหาด้านภัยแล้ง และปัญหาเศรษฐกิจที่มีต่อเนื่องมาก่อน Covid-19 ส่วน บริษัท ปตท. เอง ปีหนี้เจอเรื่องราคาน้ำมันด้วย ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน ถือว่าเป็น Perfect Storm ก็ว่าได้ ล่าสุด จากบทวิเคราะห์ใน World Economic Outlook April 2020 ของ IMF ซึ่งเป็นการคาดการณ์ของเศรษฐกิจโลกในภาพรวม จะเห็นว่าผลกระทบจาก Covid-19 จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจใน Emerging Market อยู่ที่ -1% ซึ่งประเทศไทยเราอยู่ในกลุ่มนี้ และจากการ Lock down ในประเทศไทย คาดว่าเศรษฐกิจจะติดลบในปีนี้ที่ -6.% และคาดว่าปีหน้าจะกลับมาฟื้นตัวโตขึ้นได้ 6.1% อย่างน้อยถ้าประเทศไทยยังมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ ถึงแม้ยังไม่เต็มที่เหมือนก่อนหน้านี้ ไทยมีการใช้จ่ายในประเทศมากขึ้น และเราสามารถเป็นใช้จุดแข็งของเราด้านการผลิตอาหารและเป็นผู้ส่งออกอาหารได้ดี รวมถึงการร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนด้วยกัน และพัฒนานวัตกรรมพร้อมกับโลกของ Digitalization ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจก็น่าจะค่อยๆ ดีขึ้น
ทั้งนี้ ในฐานะผู้ดูแลบริษัท หรือ กรรมการ/ผู้บริหารบริษัท (Duty of Entrusted Person) ควรต้องมีบทบาทและหน้าที่ ดังนี้
Duty of Care การบริการจัดการด้วยความระมัดระวัง รอบคอบ เมื่อเกิดสถานการณ์ไม่ปกติ เราต้องรีบทบทวนแผนการดำเนินงาน แนวปฎิบัติต่าง ต้องวิเคราะห์สุขภาพธุรกิจของตัวเราเอง
Duty of Loyalty ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุตจริต
Duty of Obedience ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย หรือ Compliance วัตถุประสงค์ ข้อบังคับ มติที่ประชุมคณะกรรมการและผู้ถือหุ้น
Duty of Discloser หน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้อง โปร่งใส และทันเวลา
ความเสี่ยงที่ต้องคำนึงถึง
โดยเฉพาะเมื่อเกิดสถานการณ์ไม่ปกติอย่างการระบาดของ Covid -19 นี้ ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงอย่างรอบคอบ เช่น ความเสี่ยงของธุรกิจ การดำเนินงาน สุขภาพทางการเงิน การปฏิบัติตามกฎหมาย และการรักษาชื่อเสียง
ในฐานะนักกฎหมาย เมื่อประเทศหรือสังคมส่วนรวมอยู่ในช่วงลำบาก ก็อยากให้ถือเป็นหน้าที่อย่างที่ทุกคนในสังคมมีเช่นเดียวกัน ในการมีส่วนร่วมแบ่งปันการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ถึงคนที่กำลังลำบากหรือกำลังมองหาความช่วยเหลือ ก็อยากจะให้มอบโอกาสช่วยเหลืออย่างเช่นคนไทยทั่วไปหรือหน่วยงาน อื่นๆ ทุกภาคส่วนที่ได้มาร่วมด้วยช่วยกันให้สถานการณ์การแพร่ระบาดครั้งนี้ดีขึ้นให้ได้ ใครมีความรู้ความสามารถทางด้านไหนเมื่อมาร่วมแบ่งปันกันแล้ว ก็เชื่อว่าสถานการณ์จะค่อยๆ บรรเทา และคลี่คลายในที่สุด
Mind Mapping กฏหมายที่ใช้กับองค์กร
สิ่งที่องค์กรควรคำนึงถึง คือ stakeholder ในมุมกฎหมายว่ามีใครบ้าง และมีกฎหมายและหลักปฎิบัติ หรือข้อยกเว้นที่เกี่ยวกับกลุ่มต่างๆ มีอะไรบ้าง เช่น พนักงานหรือลูกจ้าง ผู้ถือหุ้น ลูกค้า/คู่ค้า เจ้าหนี้/ลูกหนี้ เป็นต้น ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย
พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค
พ.ร.บ. ข้อสัญญาไม่เป็นธรรม
พ.ร.บ. ความรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551( มีผล 21 ก.พ. 2552)
พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

กฎหมาย หรือข้อกำหนดต่างๆ ที่ได้กำหนดไว้ อยากให้ทุกคนถือปฏิบัติให้ถูกต้อง แม้ในช่วงสถานการณ์ไม่ปกติก็ตาม ถ้ายังสามารถดำเนินการหรือปฏิบัติตามได้ก็อยากให้ทำตาม เพราะถือว่าหน้าที่พลเมืองที่ดี ไม่ควรเลี่ยงหรือฉวยโอกาสนี้ที่จะไม่ทำตามกฎหมาย แต่หากได้รับผลกระทบเนื่องจากเหตุสุดวิสัยจริงๆ และเป็นผลกระทบกับคนจำนวนมาก ทั้งทางตรง และทางอ้อม ในช่วงเวลาเดียวกัน เช่น กิจการถูกภาครัฐสั่งให้ปิดหรือยกเลิกกิจการชั่วคราว หรือแม้จะไม่ใช่กิจการที่ถูกสั่งให้ปิดโตรง แต่ไม่มีกิจกรรมทางการค้า หรือเศรษฐกิจเกิดขึ้นเลย ก็มีมาตรการต่างๆ ของหน่วยงานรัฐออกมาช่วยเหลือ พิจารณายกเว้น หรือผ่อนปรน และผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ แต่ที่สำคัญ ถ้าหากสามารถดำเนินการสิ่งไหนให้เป็นไปตามกฎหมายได้ ถึงแม้อาจจะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบ ก็ควรต้องทำ เช่น การจัดประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นสามัญ หรือ AGM ซึ่งขึ้นอยู่แต่ละองค์กรจะพิจารณาถึงความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการจัดประชุมตามสถานการณ์ของแต่ละองค์กร อาจจำเป็นต้องเลื่อนการประชุม หรือ เปลี่ยนแปลงจำนวนผู้เข้าประชุม หรือวิธีการจ่ายเงินปันผล ก็อาจะต้องพิจารณาดำเนินการตามเหมาะสม และต้องชี้แจงให้ผู้ถือหุ้นได้รับทราบ เป็นต้น
ในฐานะผู้ดูแลกฎหมายขององค์กร ควรต้องดูว่าในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ สิ่งไหนไม่สามารถปฏิบัติได้ และมีทางออก หรือทางเลือกในการปฏิบัติอย่างไรบ้าง เช่น การเลื่อนประชุม AGM หรือ การประชุมแบบ
E-Meeting เป็นต้น



ในเรื่องของการดูแลผู้ประกอบการ และพนักงานหรือลูกจ้าง รัฐก็มีมาตรการออกมาช่วยเหลือในกรณีเป็นกิจการที่รัฐสั่งให้ปิดกิจการชั่วคราวโดยตรง และล่าสุดได้มีการหารือถึงมาตรการช่วยเหลือกิจการที่ได้รับผลกระทบโดยอ้อม ถึงแม้ไม่ถูกสั่งปิดโดยตรง แต่เนื่องจากไม่มีกิจกรรมทางการค้า หรือการบริการเกิดขึ้นเลย เช่น ขายสินค้าไม่ได้ ไม่มีลูกค้าเลย จำเป็นต้องปิดกิจการโดยอัตโนมัติ ซึ่งถือเป็นเหตุสุดวิสัยกรณีของสถานการณ์ในปัจจุบัน
ในสถานการณ์เช่นนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่บริษัทต้องทบทวน และปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจของตัวเอง ขณะที่ลูกจ้างหรือพนักงานเอง ก็ควรต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนและช่วยเหลือองค์กรด้วย เช่น ยอมรับในการปรับลดค่าจ้าง หรือหน้าที่ความรับผิดชอบที่อาจจะต่างออกไปจากสถานการณ์ปกติ เป็นการช่วยเหลือเห็นอกเห็นใจ และร่วมแรงร่วมใจกันทั้งนายจ้างกับลูกจ้าง
การปรับโครงสร้างหนี้ เพิ่มภูมิคุ้มกันสู้ภัย Covid -19
คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลการะทบจากการระบาดครั้งนี้ ควรปฏิบัติตามมาตรการของภาครัฐที่ออกมาช่วยเหลือในขณะนี้ เพื่อเป็นการลดผลกระทบให้มากที่สุด เมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้นและค่อยๆ คลี่คลาย ก็หวังว่าภาครัฐเองก็ยังจะพิจารณาและมีมาตรการที่เหมาะสมเข้ามาช่วยเหลือช่วงฟื้นฟูต่อไป ในฐานะนักกฎหมายเอง ก็ต้องมาดูว่ามีข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการดำเนินกิจการ หรือปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยเหลือกิจการที่ได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง เชื่อว่าจากที่ประเทศไทยเราได้ผ่านเหตุการณ์ทั้งช่วงต้มยำกุ้งในช่วงปี 1997 และวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 นั้น ธุรกิจไทยเข้มแข็งขึ้นมาก ถึงแม้วิกฤตครั้งนี้จะแตกต่างออกไป แต่เชื้อว่าเรามีภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็ง จะสามารถปรับตัวและผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ เพียงแค่ไม่อยากเห็นการฉวยโอกาศของคนที่แข็งแรงกว่า ใหญ่กว่า แล้วกลืนทั้งหมด เพราะจะไม่เป็นผลดีกับประเทศในระยะยาว อยากให้ร่วมกันประคับประคอง เยียวยา และดูและกันไป อาจจะไม่ต้องกลับมายิ่งใหญ่เหมือนเดิม แต่ขอให้อยู่บนพื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียง พึ่งพาปัจจัยภายในประเทศหรือภูมิภาคเรามากขึ้น และพึ่งพาเศรษฐกิจต่างประเทศ หรือนอกภูมิภาคให้น้อยลง เชื่อว่าเราจะสามารถกลับมาเข้มแข็งได้ และอยากฝากไปยังนักกฎหมาย หรือที่ปรึกษาทางกฎหมายทุกท่าน อยากเชิญชวนมาร่วมแบ่งปัน ช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติ โดยไม่คำนึงถึงผลตอบแทนที่เป็นเม็ดเงิน เชื่อว่าเราจะช่วยผู้ที่เดือดร้อนให้กลับมายืนเข้มแข็งได้อีกครั้ง
อยากให้ฝากข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Session : Legal Q&A ที่เราจะพบกันทุกวันพฤหัสบดี เวลา 16.00 – 17.00 น.
เนื่องจาก Platform นี้เปิดขึ้นมาเพื่อเป็นพื้นที่ในการอาสาแบ่งปันข้อมูล และความรู้ทางด้านข้อกฎหมายที่ควรทราบในช่วง Covid -19 เพื่อให้สามารถได้ข้อมูลที่ถูกต้องและตรงวัตถุประสงค์จริงๆ ก็อยากได้รับทราบถึงประเด็นคำถามหรือข้อสงสัยล่วงหน้า เพื่อจะมีโอกาสเตรียมข้อมูลหรือจะได้เรียนเชิญนักกฎหมายอาสาท่านอื่นที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในประเด็นนั้นๆ มาร่วมเป็นแขกรับเชิญและร่วมแบ่งปันความรู้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกท่าน
ถอดความโดย - ADGES Co., Ltd.
สามารถส่งคำถามมาให้ผู้เชี่ยวชาญทางกฏหมายมาที่ admin@careforthaibiz.com
บันทึก Facebook Live ของรายการ Legal Q&A EP1 สามารถดูได้ที่ LINK