นักลงทุนในปัจจุบันธรรม สุขง่าย รับ New Normal” โดย แม่ชีศันสนีย์

รายการนักเดินทาง ทางด้านจิตวิญญาน Spiritual Journey
วันพุธที่ 6 พฤษภาคม 2563 เวลา 09.00-10.00 น.
หัวข้อ “นักลงทุนในปัจจุบันธรรม สุขง่าย รับ New Normal” โดย แม่ชีศันสนีย์
ดำเนินรายการโดย ดร.ณัฐวุฒิ กุลนิเทศ CEO-ADGES & Content Director ห่วงใย Thai Business
ร่วมสนทนาธรรมกับแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต จากเสถียรธรรมสถาน เพื่อเรียนรู้ในการวางใจอย่างไรในสภาวะ COVID-19สูญเสียอย่างไร...โดยไม่เสียศูนย์ และ สุขเมื่อสร้าง...ไม่ใช่สุขเมื่อเสพ เมื่อคุณแม่ชีพาทัวร์ เสถียรธรรมสถานแห่งที่ 2 ที่หุบเขาพระโพธิสัตว์ อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เพื่อมอบให้เป็นมรดกของโลก พร้อมทั้งเป็นพื้นที่ในการเรียนรู้เรื่อง 'การปลูกป่า ปลูกชีวิต ปลูกหัวใจ'
เริ่มต้น ‘Spiritual Journey’ หรือการเดินทางท่องเที่ยวอย่างมีสติปัญญา
ตอนนี้คุณแม่นั่งพักบนชิงช้า เหมือนบางช่วงของชีวิตของพวกเราที่เจอวิกฤตโควิด-19 ก็อยากนั่งพักบ้าง แต่ก็ควรนั่งพักแบบสนุกสนานทางสติปัญญา จึงมาชวนเดินทางท่องเที่ยวอย่างมีสติปัญญา (Spiritual Journey) ที่เหนื่อยก็พักแป๊บๆ พอแล้ว อย่าไปยอมจำนนกับสิ่งที่เราต้องเรียนรู้กับความจริง

“เราปฏิเสธความจริง เราก็ทุกข์ แต่ถ้ามองความจริง แล้วมองเห็นความจริงอย่างที่มันเป็น อย่างไม่ยอมจำนน เราจะกลายเป็นคนที่เติบโต”
เช่นการที่ปิดเสถียรธรรมสถาน 1 เราก็เปิดเสถียรธรรมสถาน 2 เลย เพราะการไม่ยอมจำนน ไม่ใช่เพราะเราเก่งหรือเพราะเราพร้อม แต่เพราะคุณแม่ไม่ยอมจำนน โดยมาอยู่ที่เสถียรธรรมสถาน 2 มากกว่า 1 เดือน ความจริงต้องขอบคุณโควิด-19 ด้วยซ้ำที่จากทุกวันเราต้องเดินออกไปบิณฑบาต ชาวบ้านมาใส่บาตร แต่คราวนี้เราต้องออกไปช่วยชาวบ้าน ได้รู้ว่าชาวบ้านกินอยู่หลับนอนอย่างไร การมีพืชผักสวนครัวก็เกิดจากการมาบริหารดิน น้ำ ลม ไฟ และหัวใจของเราที่ไม่ยอมจำนน
“การทำอย่างไรที่จะเข้าใจหัวใจของคนที่จะต้องอยู่ได้พึ่งตัวเองได้ แล้วยังต้องไปพัฒนาสติปัญญาว่า พึ่งตัวเองได้แล้ว ก็จะต้องให้คนอื่นเป็น สังคมเศรษฐีเขาอยู่กันอย่างไร เพราะการมีความสุขที่ได้สร้างมันสำคัญมาก เพราะถ้าเรามัวเป็นสังคมรุ่นใหม่ที่มีความสุขที่ได้เสพ เราจะกลายเป็นคนทุกข์มากในยุคโควิด-19”
แต่ถ้าเราหาความสุขจากการเป็นผู้สร้าง เช่น แตงกวาที่กำลังออกผลใช้เวลาไม่ถึงเดือน จากการบริหารดิน น้ำ ลม ไฟ ออกมาเป็นฤดูกาลของผัก ซึ่งคุณแม่ก็ไม่ได้มีความรู้มาก แต่เพราะเกิดจากการเรียนรู้ และการเรียนรู้อย่างมีจังหวะของนักสู้ที่ไม่ยอมจำนน ก็ได้ศึกษาจากต้นไม้ และการมาอยู่ที่นี่ 40 วัน ถือว่าได้สอนอะไรเยอะมาก นั่นหมายความว่า
“คนที่จะไม่ยอมจำนน ต้องพร้อมที่จะเรียนรู้”
เริ่มต้นเรียนรู้จากคำว่า “สูญ” โดยไม่เสียศูนย์
เราเริ่มต้นเรียนรู้กับคำว่า “สูญ” ก็ได้ แต่ให้สูญเสียเวลาสั้นๆ แล้วค่อยมาสตาร์ทใหม่ เพราะชีวิตเราเกิดใหม่ได้ทุกวัน ที่นี่และเดี๋ยวนี้คือเวลาที่เราเป็นนักลงทุน ปัจจุบันเราเริ่มสตาร์ทจากสูญใหม่ ถ้าเราไม่ยอมสูญเสียหัวใจของเรา รับรองได้ว่าเราจะเติบโตกว่าเก่าด้วยซ้ำ เพราะที่ผ่านมาเราหลงไปนานแล้ว เราหลงไปกับความอยากมี หรือไม่อยากเป็นมานานแล้ว ต่อไปนี้ต้องเริ่มต้นจากฉันทะ มีความรัก มีความยินดี มีความพอใจที่จะแก้ปัญหาอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

“เราต้องปรับชีวิตของเราใหม่ เมื่อเราปรับชีวิตไม่ให้เป็นไปอย่างที่เคยเป็น สมัยก่อนที่เราหลง แต่เรามีชีวิตที่เกิดใหม่ได้ เรารีสตาร์ทตัวเราจากสูญได้อย่างไม่เสียศูนย์ แล้วเราจะไม่สูญเสียอะไรเลย และแถมยังเป็นเศรษฐีอีกด้วย”
โควิด-19 ทำให้เรามีเวลาใส่ใจกับรายละเอียดของชีวิตมากขึ้น และสร้างความสุขให้กับตัวเองได้
ถ้าวันหนึ่งเราอยู่ในล่มไม่ได้ เราต้องเดินออกแดด เราจะมีภูมิคุ้มกันเวลาที่ได้ออกแดดคือ ต้องมีร่ม มีหมวก มีกันแดด การเริ่มใช้กระบวนการของการเรียนรู้และปรับตัวทุกเรื่องที่มันเกิดขึ้นหลังจากที่โควิด-19 ได้ไปแล้ว จะถือว่าเป็นการมีประสบการณ์จริงของชีวิต ที่ไม่ได้เป็นความเคยชินเดิมๆ แต่เป็นการสร้างความเคยชินใหม่ มีวินัยในความเคยชินที่ดีงาม ฝึกให้มีวินัย
หรือแทนที่จะซื้อดอกไม้มาปลูกให้สวยๆ แต่เราเลือกที่จะซื้อมินท์มาปลูก และกินสิ่งที่ปลูก รดน้ำ พอลองเอามือไปลู่กับใบก็จะได้กลิ่นหอมจากการสัมผัส พอได้กลิ่นมิ้นท์กับน้ำร้อนเราก็จะรู้สึกสด นี่คือสิ่งที่เราได้เรียนรู้ เพราะนี่คือประสบการณ์ นี่คือสิ่งที่เราจะบอกกับคนอื่นว่า
“มีอะไรบางอย่างที่เราไม่เคยได้ใส่ใจในรายละเอียด แต่เดี๋ยวนี้รายละเอียดนั้น เรามีเวลามากพอที่จะลงไปสัมผัส”
ช่วงเวลาก่อนเกิดโควิด-19 ไม่มีเวลาทำอะไร เดี๋ยวนี้เวลาเหลือเฟือ เดี๋ยวนี้จะถูกบริหารให้เป็นเวลาของการลงทุนอีกครั้งหนึ่ง ที่จะทำให้เกิดการท่องเที่ยวทางสติปัญหาของเรา จะทำให้เราเปิดโลกของเรากว้างขึ้น อะไรที่ว่าไม่ดี คุณก็ต้องทำให้มันดีก็ต้องทำเพราะเรามีเวลาแล้ว อะไรที่ไม่มีตอนนี้คุณก็มีเวลาสร้าง
คุณแม่ได้เรียนรู้จากหุบเขาพระโพธิสัตว์นี้หลายเรื่อง ตั้งแต่การที่จะกิน แต่เราจะกินผักหญ้าอย่างเดียวไม่ได้ตลอดชีวิต ไม่เคยเลี้ยงไก่ก็ต้องเลี้ยง และเลี้ยงไก่แบบมีความสุขเล็กๆ จะเก็บไข่แต่ละใบก็ต้องมีการภาวนาแต่ละใบ ไม่ได้ทำเล่น ทำจริงๆ จนเดี๋ยวนี้มีความสุขไปทุกเรื่อง ซึ่งเป็นสุขที่ได้จากการสร้าง และสุขที่ได้จากการแบ่งปัน เพราะไก่ก็แบ่งปันกับคุณแม่ด้วย
ในวิกฤตจะวางใจอย่างไร
คงไม่มีใครชอบคำว่า “วิกฤต” แต่นักบริหาร นักแก้ปัญหา หรือเศรษฐีในโลก ต่างก็เติบโตได้จากวิกฤต “เราโตได้เมื่อวันมีวิกฤตของชีวิต” เราจมน้ำ เราถึงมาฝึกว่ายน้ำ เราเรือแตกเราถึงจะว่ายน้ำให้เก่งและสร้างเรือที่ใหญ่ขึ้น เราล้มละลายเราถึงได้เป็นเศรษฐีเบอร์ต้นๆ

“เมื่อคุณเจอกับวิกฤต แล้วคุณพัฒนาสติปัญญาของคุณ ทำในสิ่งที่คุณไม่เคยชินเลย จนมาเป็นวินัย ความดีงามที่มันทำซ้ำๆ ถึงจะยากอย่างไรก็ทำได้ เวลาที่เราทำสิ่งเหล่านี้ อย่างคนที่มีการเริ่มใหม่ ด้วยการยอมรับความจริงและไม่ยอมจำนน ถึงจะเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสเสมอ”
คุณแม่ก็ทำในสิ่งที่ยาก เช่น กรณีที่ไม่เห็นน้ำก็ต้องขุดน้ำ เมื่อไม่มีอาหารก็ต้องหาอาหาร ไม่มีเงินก็หาเงิน ไม่มีมิตรภาพ เราต้องเข้าไปสื่อสารใหม่ พุดคุยใหม่ วางแผนใหม่
Spiritual Journey นำไปสู่การเป็น Spiritual Entertainment
บนเส้นทางถนนคนเดินที่มีธรรมชาติ ณ เสถียรธรรมสถาน 2 มีต้นไม้เดิมชื่อโมกมัน หรือสวนโมก โดยคำว่าโมกข์มีความหมายว่า เป็นการหลุดพ้น เขาจึงต้องมุดมา เหมือนบางทีชีวิตก็ต้องผ่านช่องแคบเล็กๆ แต่ต้องรู้ว่าปลายอุโมงค์มีความสนุกสนานรออยู่ เวลาเจอโควิดฯ เราอาจจะเคยอยู่แบบใหญ่แล้วต้องมาอยู่แบบเล็กๆ
แต่การที่เรามี Spiritual Journey จะทำให้เรามีปัจจุบันกรรมที่เราไม่อ้อนวอนขอ สนุกกับมัน และไม่ยอมจำนน ความสุขเล็กๆ ตลอดเวลาที่เด็กๆ อยู่กับคุณแม่ที่เสถียรธรรมสถาน 2 เป็นเวลา 1 เดือน เขาเห็นเลยว่าไม้ไผ่มีส่วนผสมของดิน น้ำ ลม ไฟ พอตัดออกมาก็มาเป็นจาก เป็นความสุขที่เขาตื่นขึ้นมาได้คุยกับไก่ ได้มองดูไก่ ขอบคุณไก่ และมีไก่เป็นหนึ่งสมาชิกของครอบครัวที่ให้อาหารพวกเขาทุกวัน และอาหารก็อร่อยเพราะกินกันหลายคน มันช่วยสร้างเป็นชุมชน ซึ่งยูนิฟอร์มของคุณแม่อาจทำให้ดูเหมือนว่าอยู่อีกโลกหนึ่ง แต่ชุมชนเศรษฐีคือชุมชนโสดาบัน เพราะเศรษฐีแปลว่า มีจิตที่คิดจะให้ มีสุขที่คิดจะให้ ไม่ใช่ให้แบบเอาหน้าเอาตา แต่มีความสุขแล้วก็กลับไปขอบคุณทุกคน ขอบคุณนะที่ทำให้เราได้รับใช้
หรือการเลี้ยงไก่ ทำให้เกิดการเรียนรู้และไม่ยอมจำนนว่า เมื่อออกไปนอกบ้านไม่ได้ ร้านอาหารปิด จะใช้ Grab ส่งอาหาร แต่เมื่อเรามี 100 ไร่ ที่กำลังสร้างอยู่ สิ่งที่เห็นคือ
“การสร้างความสุข ไม่ใช่เสพความสุข”
จากที่มีเพื่อนบ้านเอาไก่มาให้ 12 ตัว ทำให้มีไข่กินวันละ 10 กว่าฟองโดยที่ให้เขามีความสุข ซึ่งชาวบ้านได้เรียนรู้ว่า ถ้าเขาจะต้องไปหาเงินซื้อไข่ฟองละ 10 บาทเป็นยากแล้ว แต่ถ้าเขาสร้างไข่ โดยเริ่มจากความสุขของแม่ไก่ แล้วคุณแม่เอาไข่ไปให้ชาวบ้าน ไม่ใช่รับบิณฑบาตจากชาวบ้าน นี่คือความสุขเล็กที่จะให้คุณที่เกิดขึ้นจากความคิดท่ามกลางวิกฤตการณ์โควิดฯ
ทั้งหมดนี้ทำให้เรารู้สึกว่า ถ้าอย่างนี้ประเทศไทยก็ไม่มีคำว่าจน เพราะมีแต่เศรษฐีที่สุขเมื่อสร้าง สุขเมื่อให้ จากการที่ไม่ยอมจำนน คือสุขง่ายใช้น้อยลง แต่ความสุขมันมากขึ้น การมีสุข 3 ขั้น หรือสุขแบบเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 แต่เรามาแต่งให้เหมาะกับคนรุ่นเรา โดยเชื่อว่าเมื่อเกิดโควิดฯ เด็กๆ ก็จะเกิดการเรียนรู้ จะเปลี่ยนจากการเลียนแบบเป็นการเรียนรู้ เขาไม่ได้ดูซีรี่ส์เกาหลีอย่างเดียว แต่เขาจะดูว่า ทำไมเกาหลีสามารถสร้างสิ่งนี้จนกระทั่งขายวัฒนธรรมผ่านซีรี่ส์ได้ เด็กจะมีความคิด เขาสามารถทำน้ำชาจากโรสแมรี่หรือมินท์ได้ หรือแม้แต่เรียนรู้ว่าการปั่นจักรยานที่นี่ทำให้ตัวเองแข็งแรง หรือที่นี่ได้เป็นพื้นที่เต้นระบำของเด็กๆ แต่เป็นการระบำแห่งสติปัญญา และทำให้เขาได้เรียนรู้ว่า สามารถเป็น Spiritual Entertainment ได้ หลังเป็น Spiritual Journey แล้ว
โควิดฯ ทำให้เกิดความไม่เป็นเจ้าของ และรู้ว่าโลกนี้เป็นสาธารณะ
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเลี้ยงไก่ เช่น การเจอไข่สองฟองที่อยู่ใกล้กัน แสดงว่าเขาสามารถอยู่ในคอนโดฯ ที่ใกล้กันในการฟักไข่ แต่เราผู้เป็นมนุษย์ คอนโดฯ ต้องมีโฉนดใครของมัน ผิดกับไก่ที่เขาแชร์กัน เลยทำให้ได้เรียนรู้ว่า

“New normal คือการไม่จับจองเป็นเจ้าของ แต่โลกนี้เป็นสาธารณะ มนุษย์ทั้งผองเป็นพี่น้องกัน ไม่ว่าจะมาจากมืดหรือสว่าง เราไปสว่างได้เหมือนกัน ถ้าใช้วิกฤตโควิดฯ มาเป็นแสงสว่างเพื่อไปแสงว่างด้วยกัน โดยจบอดีตที่เคยเป็นมา เคยมีบาดแผล มีมืดและสว่างอย่างปัจจุบันธรรม ทำให้เราไปสว่างได้เหมือนกัน เท่ากับวิกฤตก็คือโอกาส”
บางทีเรามีโควิดฯ เพื่อกายวิเวก จิตวิเวก และอุปธิวิเวก คือการไม่มีชั้น โลกนี้คือการไม่มีชั้น มีความสุขของเรา มีความสุขของกันและกัน เพราะทุกคนต่างทำหน้าที่ แล้วเคารพ เกื้อกูล และแบ่งปันกัน ไข่แล้วไม่ใช่ของฉัน พื้นที่ตรงนี้ไม่มีชั้น ไม่มีโฉนด แต่เป็นผู้อาศัย
“โควิดฯ ได้สอนให้เรารู้จักเป็นผู้อาศัยที่ไม่ติดหนี้ คือ มาแล้วไป อย่ากอบโกย โลกนี้ไม่ใช่ของเรา เราเป็นแค่ผู้อาศัย ให้ความสุขไว้แล้วก็ไป”
เมื่อเราได้รับอนุญาตนำไข่ไป กินกันได้หลายคน ถือว่าไก่ไม่มีค่าตัว แต่การที่คนเราจะให้อะไรบางทีก็ไม่ได้สบาย เพราะการที่ให้อะไรที่สบายๆ คนก็จะไม่จดจำ การที่ให้เขาตอนกำลังหิวโหย เขาก็จะจดจำว่า เขาต้องให้คนอื่นต่อไป เช่น ไข่ใบนี้เกิดจากความสุขของแม่ไก่ตัวหนึ่ง แต่แม่ไก่ต้องใช้พลังในการเบ่งไข่ออกมา
“สังคมต้องเคารพในสิ่งที่ตัวเองเข้าไปให้ ถ้าสังคมไม่ลดอัตตาตัวตนของคนให้ การให้จะเป็นเรื่องของการเอาบุญคุณ แต่ถ้าลดตัวตนของคนให้ การให้จะเป็นการขอบคุณ”
ขอบคุณโควิดฯ ที่ทำให้การให้กันและกัน จากตัวตนเล็กไปสู่การให้ใหญ่ ถ้าคิดจะสอนให้คนเป็นผู้รับในสังคมช่วงโควิดฯ ต้องทำให้เขารู้ว่า การได้รับของเขามันเป็นสิ่งที่เขาจะต้องฝึกเรียนรู้ที่จะให้คนอื่นต่อไป ไม่ใช่เขาต้องเรียกร้องว่าเขาต้องได้อยู่ตลอดเวลา
“การให้ที่ดี คือการสร้างสติปัญญา ในขณะที่ให้ ต้องไม่ผลักคนตกเหว ไม่ทำให้คนงอมืองอเท้าไม่นิ่งดูดาย”
เพราะการให้แต่ละครั้งเป็นความทุกข์ยาก เช่น ไก่กว่าจะเบ่งไข่ แม้เขาทำหน้าที่ของเขา แต่ต้องใช้สรรพกำลังในการเบ่ง ไม่ใช่จู่ๆ หยิบโยนให้ ไม่ใช่เหลือเฝือแล้วให้ แต่เขาต้องพยายามที่จะให้ แม้สิ่งที่ให้มันยากขนาดไหน เพราะทุกคนถูกปรับลงมาในระดับเดียวกันหมด แล้วมันทอดทิ้งกันไม่ได้ ต้องดูแลกันและกัน
“การดูแลที่ดี คือการใช้ปัญญาสร้างวิธีการให้และวิธีการรับ ที่มันเสมอกันด้วยจิตที่คิดจะให้ และมีความตระหนักว่าคุณจะต้องมาเป็นผู้ให้ต่อไป การให้ที่ไม่ผลักเขาตกเหว จะทำให้เขาขอบคุณโอกาสที่เขาได้รับ และเขาต้องไปขอบคุณคนที่เขาได้ให้ต่อไป เพราะความเข้มแข็งในการรับของเขาเมื่อครั้งที่แล้ว มันทำให้เขามีปัจจุบันขณะที่วางแผนชีวิตแล้วว่าจะไม่ขออีก แล้วให้คนอื่นต่อไปอีก มันจะขอบคุณและขอบคุณ และนึกถึงทีไรก็อิ่มใจทุกที”
โลกนี้ล้วนมีปัจจัยแห่งการเกิด โควิดฯ ก็เช่นกัน และยังทำให้มีกัลยาณมิตรที่ดี
ถ้าใครมีกัลยาณมิตร มีเพื่อนที่ที่กล้าขนาบ กล้าเตือนกล้าที่จะชี้ทางที่ถูกต้อง การมีเพื่อนดีมิตรดีก็เป็นเรื่องดี โควิดฯ ทำให้เราไม่มีช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนมากนัก คนเก่งคนไม่เก่งก็มาคิดร่วมกัน มีกัลยาณมิตร และสอนให้คนมีโยนิโสมนสิกาที่แยบคาย คุณต้องหาความสำเร็จในการเป็นคนอย่างคุณ ในรูปแบบของคุณที่จะออกมา แล้วสร้างสังคมการให้หรือสังคมเศรษฐี เหมือนที่นี่ได้เรียนรู้ว่าต้นไม้ให้ออกซิเจน แต่ได้น้ำมาจากฟ้า มี ลม ดิน ไฟ เขาได้ร่มเงาให้กับโลกใบนี้
“ทุกอย่างพึ่งพิงอาศัย ไม่มีอะไรที่ได้มาโดยบังเอิญ ไม่มีเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุปัจจัย ถ้าเราเข้าใจว่าโควิดฯ เกิดขึ้นเพราะมีปัจจัย มีความเร็ว ละโมบ ฟุ้งซ่าน และหลงอารมณ์มาก ให้รู้ว่าช้า แล้วชัด เมื่อชัดแล้วคุณรีสตาร์ทใหม่ ต้องมีชีวิตใหม่ของคุณอย่างไร”
เมื่อใดคุณมีดิน มีน้ำ คุณจะมีอาหาร เมื่อใดที่คุณมีใจ จะพึ่งใจตัวเองได้ และเมื่อใดที่คุณให้ร่มเงากับโลกได้ คุณมีโลกใบนี้ที่มีวงศาคณาญาติที่มนุษย์ทั้งผองเป็นพี่น้องกัน ไม่ใช่แค่คำพูด แต่เป็นการกระทำทั้งกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ไม่มีใครอยู่ข้างหน้าเราโดยบังเอิญ ไม่มีใครที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน เพราะฉะนั้นการช่วยเหลือในวิกฤตการณ์โควิดฯ ทำให้เรารู้ว่ามนุษย์ทั้งผองเป็นพี่น้องกันจริงๆ ในทุกวัฒนธรรม ศาสนา ภาษา ชนชั้น และวรรณะ และเพศ เราทุกข์เท่าเทียมกันจริงๆ เราก็ต้องพ้นทุกข์ได้อย่างเป็นพี่น้องกัน มากกว่าเป็นลูกค้า มากกว่าเป็นเจ้านายหรือลูกน้อง แต่ฐานะเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ ทุกข์มีไว้ให้เห็น ไม่ได้มีไว้ให้เป็น เมื่อเห็นทุกข์ก็พ้นทุกข์ร่วมกัน
กินอาหารให้อร่อยจะต้องกินหลายคนไม่ใช่กินคนเดียว
ตอนนี้หากมีที่ว่างตรงไหน หรือมีที่ดินปลูกต้นไม้ได้ปลูกไปเลย เพราะจะได้ออกซิเจนของโลก จะได้รู้ว่ามาเก็บกินได้ แล้วเราก็จะมีชีวิตไปด้วยกัน อย่างชาวบ้านเอาต้นมะขามมาให้ ชาวบ้านคือรั้วของคุณแม่ คนก็สามารถมาเก็บกินได้ การที่เราปลูกพืชผักสวนครัวโดยที่ให้คนอื่นมาเก็บ เอาไข่ไปให้คนอื่น มากินด้วยกันกับเรา มันจะมีความอิ่มนาน และเหมือนเป็นการตอบโจทย์ว่า กินอาหารให้อร่อยจะต้องกินอย่างไร คำตอบก็คือ “การกินอาหารให้อร่อยต้องกินหลายคน ไม่ได้กินคนเดียว แล้วก็กินหลากหลาย เพราะจะทำให้มีโอกาสแข็งแรงเนื่องจากมีธาตุแข็งของเราอย่างมีปัญญา ไม่มีเคมีที่จะทำให้เป็นมะเร็ง เราอาจไม่เป็นโควิดฯ ไม่เป็นหวัด แต่อาจเป็นมะเร็งได้ถ้าเรากินไม่เป็น นอกจากนั้นเวลาที่ปลูกต้นไม้ ทำให้พบว่าทุกอย่าง คือเรากำลังเรียนรู้กับสิ่งที่ร้อนหรือความแห้งแล้ง แต่อีกด้านหนึ่งคือการที่ทำให้เราแข็งแรง แม้ผิวอาจจะเสียไป
เมื่อโควิดฯ ทำให้เกิด New normal ที่ใช้ชีวิตแบบเดิมๆ ไม่ได้ เราจึงเป็นนักลงทุนในปัจจุบันธรรม
New คือ เวลาที่เรามีชีวิตใหม่ที่เกิดขึ้นได้ในทุกๆ วัน จะทำให้เราไม่ซ้ำซาก แต่เป็นการซ้ำแล้วสด

“New normal คือการมีชีวิตที่สดขึ้น บางเรื่องเรารู้ว่า เราซ้ำซากและหลงมานานแล้ว แต่โควิดฯ มาทำให้เรารอด ว่าเราต้องรู้จริงๆ ว่าเหตุปัจจัยแห่งความทุกข์นี้มันมาจากอวิชาที่ความไม่รู้เท่าทันความเป็นจริง โดยเฉพาะในภาวะของการหลงอารมณ์”
เช่น ที่ผ่านมาเราตะกละ มีความอยากได้ แสวงหา และเพลิดเพลินอยู่กับสิ่งที่เราพอใจ เราไม่มีสติของความพอใจ พอเราพอใจแล้วไม่ได้อย่างที่เราพอใจ เราก็ไม่พอใจกับสิ่งที่เราพอใจ ก็ตีอกร่ำไห้ อึดอัด ท้าทาย ชนอย่างสะเปะสะปะ เราต้องมีสติของความพอใจและความไม่พอใจในโลก แล้วก็ลืมตาอยู่ในท่ามกลางวิกฤตการณ์ที่มันเป็นอย่างที่มันควรจะเป็น ไม่ได้สาหัสมาก เพียงแต่เรายอมรับมันไม่ได้ คนที่ยอมรับมันได้แล้วก็เรียนรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่ยอมจำนน เขาก็จะมีชีวิตใหม่ มีชีวิตที่จะปรับเปลี่ยนตัวเอง ไม่เอาแล้วที่ไม่รอด

“เราต้องรู้ทันหลง เราจะรอด นี่คือ New จริงๆ สำหรับชีวิตของเรา”
เราต้องตื่นขึ้นมาทุกเช้า ถามตัวเองว่าตื่นขึ้นมาด้วยกุศลหรืออกุศล ถ้าคุณมีสติดี คุณก็ตื่นขึ้นมาด้วยความมีฉันทะที่ดี มีความรัก ความพอใจที่จะขยันขันแข็ง มันก็จะเป็นกุศล เมื่อมีฉันทะมาแทนความอยากมีอยากเป็น แล้วถ้าความอยากเป็นมันล้าไปแล้ว ก็จะรู้เลยว่า เหนื่อยกับความอยาก เราควรต้องสร้างสังคมเศรษฐีคือ สังคมอยากที่จะให้ และร่าเริงกับการให้อย่างมีปัญญา ไม่ได้ให้อย่างผลักตกเหว
“การให้ของเราจึงศักดิ์สิทธิ์ เพราะจิตของการให้ มันมีปัญญาของการช่วยในทุกรูปแบบที่กายรอด ใจรอด สติปัญญารอด จากนั้นการเดินทางอีกครั้งหนึ่งที่เป็น Spiritual Journey ก็เกิดขึ้น เพราะเก่าๆ มันหลงแล้ว ควรจะ new ควรจะมีชีวิตที่สุขง่ายจากการใช้น้อยลง สุขเมื่อสร้าง ไม่ใช่สุขเมื่อเสพ และต้องสุขเมื่อให้อย่างมีปัญญาโดยไม่ผลักผู้รับตกเหว ทำอย่างไรใช้ปัญญาในการให้มากขึ้น”
“หลังโควิดฯ เชื่อว่ามนุษย์จะมีสัมมาทิฐิมากขึ้น เป็นสารถีของชีวิต เป็นเหมือนปัญญาในการเคลื่อน คือความเห็นชอบ เห็นทุกอย่างตามความเป็นจริงว่าสิ่งนี้มี ถ้าอวิชามีทุกข์ก็มี ถ้าอวิชชาไม่มีทุกข์ก็ไม่มี การมีชีวิตใหม่ของเรายุคนี้ เราต้องกำจัดอวิชชาให้ได้”
อันนี้เศรษฐีโบร่ำโบราณก็ทำกัน มีส่ายป่านยาว มีพาร์ทเนอร์ที่ดี ทำงานขยัน ทั้งกลางวันกลางคืน ตื่นก่อน นอนทีหลัง ไม่อ้อนวอนขอ ไม่เป็นคนที่ไม่เคารพปัจจุบันกรรม เราต่างกันโดยปัจจุบันกรรม เราไม่ได้ต่างกันเพราะอดีต เราจะรวบจนมาจบแล้ว ปัจจุบันรีสตาร์ทได้แล้ว บริหารกรรมให้ดี สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้น