top of page

องศาแห่งความสุข Happy Thailand

อัปเดตเมื่อ 11 ส.ค. 2564



สนทนาธรรมกับท่านแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต พร้อมแขกรับเชิญพิเศษ คุณพจนารถ ซีบังเกิด “โค้ชจิมมี่” ประธานกรรมการ และผู้ก่อตั้ง กลุ่มบริษัท จิมมี่ เดอะ โค้ช (Jimi The Coach Group)

วันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน 2564 เวลา 18.00 น. ทาง Club House


ดำเนินรายการโดย ดร. ณัฐวุฒิ กุลนิเทศ


องศาแห่งความสุข Happy Thailand ถือเป็นหัวข้อที่ตรงกับสถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้ได้ดี ว่าเรายังสามารถมองหาความสุขว่าอยู่ตรงไหน เพราะในความจริงความสุขอาจไม่ได้หายไปไหนเลย แต่เพียงอยู่ที่การวางใจของตัวเอง ซึ่งผู้ที่ร่วมสนทนากับเราวันนี้ถือว่าเป็นหนึ่งในผู้ที่จุดประกาย Life Coach ในเมืองไทยคนหนึ่งและทำมากว่า 10 ปีแล้วนั่นคือ คุณพจนารถ ซีบังเกิด

นิยาม Life Coach


คุณพจนารถ


ในเมืองไทยคนไทยยังเข้าใจคำนี้ไม่ตรงตามจุดเป้าหมายที่แท้จริง Coaching คือเพื่อนร่วมเดินทาง และไม่ใช่เพื่อนนำทางด้วย

“เหมือนเป็นเพื่อนมนุษย์ที่ร่วมเดินทางไปด้วยกัน เพื่อให้คนที่เข้ามารับการโค้ชร่วมเดินทางไปกับเรา เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายในชีวิตที่เขาต้องการ และไม่ใช่สิ่งที่โค้ชต้องการ”

Life Coach แปลเป็นภาษาไทยคือ โค้ชชีวิต อย่างโค้ชจิมมี่จะเป็นเพื่อนร่วมเดินทางไปในทุกๆ ที่ที่เป็นประเด็นในชีวิตของคนที่เข้ามาคุยกับเรา เพื่อให้เขาไปถึงเป้าหมายหรือที่เขาปรารถนาในชีวิตนี้ในทุกๆ ด้านและต้องเป็นไปอย่างมีจริยธรรม เพราะบางคนอาจตั้งเป้าหมายไว้แต่อาจไม่มีจริยธรรม เราก็ต้องเป็นเพียงกระจกที่สะท้อนให้เขาเห็นความบิดเบี้ยวในเป้าหมายนั้น แล้วให้เขาตัดสินใจเดินไปในทางที่ถูกต้องที่เขาเลือกเดินเอง


คำว่า Life คือ การที่เราคุยได้ทุกด้านของชีวิต แล้วมาเปลี่ยนเป็น Business Coach /Performance Coach ขึ้นอยู่กับคำข้างหน้าจะอธิบายว่าอย่างไร แต่ต้องเข้าเข้าก่อนว่าคำว่า

“Coaching ไม่ใช่คนนำ ไม่ใช่คนแนะนำ ไม่ใช่เป็นที่ปรึกษา ไม่ใช่นักสร้างแรงบันดาลใจ แต่เราจะอยู่คู่กับเขา แต่เขาอาจมีแรงบันดาลใจจากที่คุยกับเราก็ได้ เราอยู่เคียงข้างเพื่อให้เขาเห็นตัวเอง นำพาให้เขากลับมาบ้านในใจของเขาเอง โดยผ่านการใช้การฟัง การถาม และการสร้างความไว้วางใจ”

กว่า 1 ปีที่โควิด-19 อยู่กับคนไทยวิธีการ Coaching แตกต่างจากเดิม


คุณพจนารถ


คนที่เข้ามาอาจมีทุกข์มาปรึกษา แต่คนที่แวดล้อมและมีโอกาสได้เจอเราต่างมีการปรับตัวที่ดี แต่สำหรับคนที่ไม่ได้เคยเจอรู้สึกว่าจะมีความจิตตก ซึมเศร้า หมดหวัง เสียใจ และท้อแท้ โดยเฉพาะในคลับเฮ้าส์ที่เข้าไปหลายห้องรู้สึกแบบนี้หมด เหมือเป็นสิ่งที่โดนกระทบจากภายนอกและหลายคนไม่สามารถรับมือกับสิ่งนั้นได้เท่ากัน


การโค้ชชิ่งของจิมมี่ส่วนใหญ่อาจจะเจอในระดับผู้บริหารที่เขาอาจไม่ได้ตกอยู่ในสภาวะที่เดือดร้อนจากโควิด-19 มากเท่ากับคนที่ทำงานในองค์กร หรือคนที่ต้องหาเช้ากินค่ำ ซึ่งตอนนี้เราเห็นถึงการสั่นสะเทือนต่อเรื่องนี้มาก ส่วนสิ่งที่ได้เห็นและได้คุยในในความแตกต่างจากเดิมคือการได้คุยกับพนักงานระดับผู้จัดการลงมาเมื่อช่วงเกิดโควิด-19 ระลอกแรก เพื่อให้เขาระลึกว่า ตอนนี้กำลังเกิดอะไรขึ้น แล้วถ้าต้องเริ่มมีการทำงานที่บ้าน ไม่เจอเพื่อนฝูง หรือต้องอยู่ในสถานที่ล็อกดาวน์อย่างโรงงานก็พบว่าจะมีความหวั่นไหวบ้าง แต่อาจไม่ได้สั่นสะเทือนมากเท่ากับคนที่หมดรายได้เลย


ดร. ณัฐวุฒิ


Life Coach ที่นึกถึงคือคุณยายจ๋าที่เริ่มฟังพวกเรามานาน เพราะคุณยายบอกว่า ถ้าเราไม่ฟัง แล้วเราจะตั้งคำถามกับพวกเขาได้อย่างไร


ปัจจุบันคนที่ต้องการพูดคุยกับสถานการณ์นี้ควรมีทักษะอะไรที่ยิบยื่นให้กันเวลานี้


แม่ชีศันสนีย์


สัมมาวาจาเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เป็นศีลของพวกเราเลย ในฐานะของผู้ตั้งคำถามก็ต้องมีศีล ชอบคำว่า Life Coach ที่จิมมี่บอกว่าคือ เพื่อนร่วมเดินทาง อันนี้สำคัญเพราะเราไม่ได้นำทางเขา แต่เราเป็นเพื่อนที่ร่วมเดินทาง แต่มีสำนึกว่าเราจะไปให้ถึงที่สุดของเป้าหมายในชีวิตที่เราจะพ้นทุกข์ได้ คือ มีความสุข และไม่เคยคิดว่าตัวเองจะเป็นอะไร แต่ในฐานะที่เราได้เคยพบผู้คนที่ไว้วางใจและมีศรัทธาด้วยกันที่จะพึ่งตัวเองให้ได้ ทำให้รู้ว่า

“การเคารพในฐานะของผู้ฟัง ต้องฟังความรู้สึกของเขาอย่างที่เขาเป็น โดยที่ไม่เอาความรู้สึกของเราไปตัดสิน”

แต่เรารู้เลยว่าเวลาที่เขาเอ่ยวาจาหรือการนึกคิดอย่างนี้มันสะท้อนถึงความสุขความทุกข์ด้านในอย่างไร และด้วยความเคารพที่ไม่ช่วงชิงหรือไม่เอาโอกาสที่ทำอะไรก็ได้ให้เขารู้สึกได้รับการเบียดเบียนจากเราอีก เราจึงต้องถ่อมตัวมาก คือต้องใช้ปัญญาในการฟังมาก ในกรณีที่มีคนกล้าจะมาเปิดเผยหรือเล่าความรู้สึก โดยที่เราจะดูถูกไม่ได้เลย แต่เราต้องจับถูกให้ได้ว่า อะไรที่จะเคารพหัวใจของคนที่ไว้วางใจเรา คุณยายเลยใช้ศีลอันนี้ในการปฏิบัติอยู่


พอมีคำถามที่ตั้งไปเพื่อให้คนหนึ่งคนได้ตื่นรู้กับตัวเอง ไม่ใช่หมายความว่าเราเก่งที่จะตั้งคำถามเขา เหมือนเรากำลังบอกว่าการเคารพของคนที่อยู่รายล้อมที่เขากำลังไว้ใจคนอื่น สุดท้ายเขาต้องไว้ใจตัวเองอย่างไร และสุดท้ายก็พบว่า เมื่อคนเข้าไปมีความศรัทธาต่อตัวเอง เริ่มมีองศาที่บิดไปในทิศทางที่เป็นจะปลุกตัวเองได้ที่ทำให้เกิดสัมมาทิฏฐิ

“ความคิดเห็นที่มันถูกต้องโดยธรรม ไม่ใช่ความคิดเห็นที่ถูกต้องหรือถูกใจกิเลสของเรา แต่เป็นความถูกต้องที่เกิดจากการศรัทธาตัวเอง เริ่มมีปัญญาปรับเปลี่ยนองศาในชีวิตของตัวเองที่จะมีความสุขมากขึ้น นี่คือสิ่งสำคัญที่สังคมต้องการเพื่อนผู้ร่วมเดินทาง เพราะเป็นกัลยาณมิตรที่เป็นเพื่อนที่คอยตั้งประเด็นขึ้นมา แล้วรอฟังคำตอบที่เขาค่อยเริ่มเคารพตัวเอง อันนี้น่าชื่นใจ”

ซึ่งคุณแม่ไม่ได้เรียนที่ไหน แต่อาศัยคำสอนของพระศาสดา เวลาพระองค์จะสอนอะไร พระองค์เป็นนักตั้งคำถาม พวกเราก็จะตั้งคำถามกับตัวเองในฐานะที่เรามีสัมมาทิฐิในการเป็นกัลยาณมิตร ทำให้เรากลายเป็นคนที่อาจจะชำนาญกับการตั้งคำถามให้กับตัวเอง


ควรยึดการดำรงตนเป็นโค้ชมากกว่ายึดอาชีพเป็นโค้ช


คุณพจนารถ


ตอนที่ไปเรียนศาสตร์นี้มาบอกกับตัวเองเลยว่า Coaching นี่คือ “ธรรมมะ” ถ้าธรรมมะพาคนกลับบ้านโดยมีสัมมาทิฐิให้รู้ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้น อะไรเป็นอะไร แล้วเราสนใจ “การดำรงตนเป็นโค้ช” มากกว่า “มีอาชีพเป็นโค้ช” อยากชวนนักโค้ชทุกคนมาปฏิบัติธรรม

“การที่เราจะฟังใครสักคนหนึ่งเขาจริงๆ เราต้องลดตัวตนเราทั้งหมด ต่อให้ลดอัตตาตัวตนไม่ได้ทั้งชีวิต ก็ขอให้ลดให้ได้ต่อหน้าคนที่เขากำลังเล่าเรื่องของเขาโดยที่เขาไว้วางใจเรา เพราะเขาต้องเล่าโดยไม่มีกำแพง เป็นเรื่องราวของเขา เล่าโดยที่ไม่มีใครไปตัดสินเขาว่านี่ถูกหรือผิด เรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ก็ต้องไม่มีการตัดสิน เราต้องกลับมาดูแลตัวเราเองให้ไม่มีอัตตาตัวตน”

แม่ชีศันสนีย์


อันนี้สำคัญ มันต่างกันของการที่มีอาชีพโค้ช กับ คนที่มีสำนึกการทำหน้าที่โค้ช

คุณพจนารถ


อาชีพโค้ช คำว่าอาชีพ คือการที่ต้องแลกมาด้วยเงิน ต้องมีคนมาจ่ายเงินเรา พอมีเรื่องเงินเข้ามาก็ต้องรับผิดชอบให้เขา Outcome ให้ได้ และจะต้องส่งมอบผลงานที่ดีที่สุด มาโค้ชกับฉันที่เธอจะต้องได้รับผลลัพธ์ที่ดี อันนี้ถือว่าผิดตั้งแต่ต้นแล้วที่เรามีเป้าหมายของเรา


แต่ถ้าเราดำรงตนเป็นโค้ช เราต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้คนทุกคนเลย ถึงแม้กับตัวเราเองด้วย การเตรียมตัวของโค้ชไม่ใช่เตรียมตัวเมื่อมีลูกค้า แต่ให้เตรียมตัวทุกวัน เพื่อให้เราดำรงชีวิตอยู่ให้เห็นเป็นให้ดูให้ได้ก่อน เพราะอันนี้คือการสร้าง Trust อย่างดีที่สุดโดยที่เราไม่ต้องสร้าง เราเป็นเรา

“การโค้ชเขาให้เขาไปสู่ความสำเร็จอย่างมีจริยธรรม เราก็ต้องมีจริยธรรมก่อน เราต้องฟังเรื่องราวของเขาโดยไม่มีอัตชีวประวัติเรื่องราวของเราในสิ่งที่เรากำลังฟัง”

เพราะฉะนั้นการที่เราจะบอกว่าฉันผ่านอันนี้มาแล้ว ต้องลดลงให้หมด เพราะฉะนั้นเราจะไม่มีทางได้ยินข้อมูลข่าวสารที่เขากำลังส่ง พอไม่ได้ยิน เราจะถามไม่เป็น ไปไม่ถูก เราก็จะถามตามตำรา


แม่ชีศันสนีย์


ตัวโค้ชที่ไม่มีจริยธรรมก็เหมือนกับการตั้งกำแพง อันนี้สำคัญมาก ต้องบอกว่าบนหนทางของการเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ ต้องเคารพความแตกต่างโดยไม่มีกำแพงหรืออัตตา เพราะการมีอัตตาคือการสร้างกำแพงของความเชื่อที่ผิดแล้วของตัวเอง เมื่อเรามีมิจฉาทิฏฐิหรือความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง แต่ปฏิเสธไม่ได้เพราะมนุษย์ชอบตัดสิน ก็จะไปตัดสินเรื่องราวของเขา แล้วการตัดสินคือการดูถูก มันไปทำร้ายเขา เพราะทำให้เกิดการเปรียบเทียบซึ่งเป็นการมานะถือตัว อันนี้จะเป็นการไปรับกรรม ถ้าไม่ได้มีจริยธรรม มันจะเกิดเป็นโศกนาฏกกรมได้ ตอนแรกอาจจะไปด้วยความตั้งใจดี แต่วิถีชีวิตคนนั้นอาจไม่ได้ลดอัตตาตัวตนของตัวเองในวิถีชีวิตประจำวัน

“คนที่จะเป็นผู้ฟังได้ ต้องฟังหัวใจตัวเอง แล้วก็ต้องถ่อมตัว ไม่เป็นมนุษย์ตัดสิน และเป็นคนที่ต้องเปิดใจกว้างมาก เราต้องอยู่ให้เป็น แล้วก็เย็นให้เห็นให้ได้ ไม่อย่างนั้นใครจะไว้ใจเรา บางทีคนที่มาเจอเราเขาอาจจะขี้ขลาดไปเลยก็ได้ ถ้าเราไม่มีสำนึกจริงๆ อันนี้คือน่าห่วง”

Life Coach ต้องมีมรรค 8


คุณพจนารถ


เราสนใจเรื่องการดำรงตนจริงๆ เพราะเราถูกเห็นรอบด้าน เราไม่รู้หรอกว่าเขาสนใจเราอย่างไร การดำรงตนเป็นสัมมาทิฏฐิ ต้องดำรงตนแบบมีมรรค 8 เลยที่จะทำให้เราไม่ว่าจะทำอาชีพใดๆ ก็จะดีมาก ไม่ต้องระวังตัว ไม่ต้องปรุงแต่ง

แม่ชีศันสนีย์


เพราะว่าจะไม่มีการโกหกตัวเอง การที่เราโกหกตัวเอง คนโกหกมักจะไม่ค่อยรู้ว่าตัวเองโกหกตัวเอง แล้วเชื่อในสิ่งที่ตัวเองถูกหลอกด้วยการคิดผิด มรรคมีองค์ 8 ที่มีกัลยาณมิตรมันสำคัญมาก เพราะผู้มีพระภาคเจ้าบอกว่า การมีกัลยาณมิตรเป็นหนทาง เป็นปัญญา ศีล และสมาธิ ถ้าตัวโค้ชไม่มีปัญญา ศีล และสมาธิ จะทำอย่างไร ในเมื่อเราต้องเข้าไปมีส่วนที่เขาไว้เนื้อเชื่อใจหรือมีศรัทธา อยากให้คนที่กำลังฟังอยู่ ลองตั้งจากสิ่งที่จิมมี่กำลังอธิบายการเป็น Life Coach จะต้องมีสำนึกอย่างไร ต้องมีมรรคเป็นองค์ 8 เป็นปกติ ไม่ใช่วิชาที่ไปเรียนมาจากไหน แต่เป็นปกติที่อยู่ในวิถีชีวิตของคนนั้นที่เห็นเราอยู่รอบด้าน คิด พูดอย่างไร ที่สะท้อนความรู้สึกนึกคิดด้วยจิตที่เป็นอย่างไร


เมื่อฟังสิ่งที่จิมมี่พูดทำให้เห็นว่า “พฤติกรรมของคนเป็นโค้ชสำคัญ” โดยสำนึกของคนเป็นโค้ช ต้องโค้ชตัวเองได้ แต่พอมันถูกครอบงำด้วยการใช้เงินจ้างให้เป็นโค้ชมันทำให้แป๊ปขึ้นมาว่า เพราะเกิดความสงสัยว่า เวลาที่คนเกิดการว่าจ้างให้เป็นโค้ชเขามีโมเดลของการเป็นโค้ช เขาจ้างเราแล้วเราต้องช่วยเขาได้ ไปสู่ความสำเร็จให้ได้ คนเป็นโค้ชเครียดหรือไม่

คุณพจนารถ


ถ้าโค้ชแบบจิมมี่จะไม่เครียด เพราะมีข้อตกลงตั้งแต่แรกว่าเราโค้ชเขาเพราะต้องการผลลัพธ์อะไร แล้วกระบวนการโค้ชของเราเป็นอย่างไร ทุกครั้งที่คนจะเข้ามาคุยกับเรา จะตกลงกันเลยว่าเขาต้องการอะไร แล้วจะช่วยเขาคุยในสโคปนั้นๆ เลย การตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนพฤติกรรมหรือไม่ อันนี้เราต้องทำให้เขาเห็นว่า การที่เขาตัดสินใจในธุรกิจเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะรำคาญใจหรือติดข้อกังวลในเรื่องใด พอเราได้ส่องกระจกให้เขาได้เห็นรอบด้านแล้ว การตัดสินใจเป็นของเขา แล้วเราจะวางใจได้ว่า เขาเลือกของเขาเอง เราเหมือนผู้กำกับไม่ใช่ตัวละครที่เล่น จึงไม่เครียด


มนุษย์ทุกคนมีดีในตัวเพียงแต่ถูกบดบัง


เรามี Mindset ของคนเป็นโค้ชที่เชื่อแบบนี้ เหมือนที่พระพุทธเจ้าก็เชื่อแบบนี้คือ มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพและคุณสมบัติที่ดีอยู่ในตัวเขา เพียงแต่บางทีมีอะไรมาบดบังให้เขาไม่เห็น เหมือนองคุลีมาล ถ้าเป็นคนอื่นก็คงไม่สอนให้กลับมาเป็นคนดีได้ และทุกคนก็จะตัดสินไปแล้วว่าองคุลีมาลเป็นคนบาปเป็นคนใจร้าย แต่พระพุทธเจ้าท่านช่วยเพราะท่านเห็น โค้ชก็เหมือนกัน ต่อให้เราไม่เห็นเหมือนพระพุทธเจ้า แต่เราก็เชื่อว่าคุณสมบัติทุกอย่างที่จะช่วยแก้ปัญหาก็อยู่ในตัวเขา พอเขาเชื่อเราก็จะทำให้เขาเห็นรอบด้านแล้วที่เหลือการตัดสินใจเป็นของเขา ก็เลยไม่ต้องแบกความเครียดกลับบ้าน แล้วก็วางใจในตัวเขาได้ด้วย


แม่ชีศันสนีย์


หมายความว่าเรามีศรัทธาว่ามนุษย์ทุกคนสามารถจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ ไม่ว่าต้นทาง ระหว่างทาง อาจจะมืดหรือเทา แต่โดยศักยภาพของมนุษย์มันอาจจะไปที่สุดของการพ้นทุกข์ได้ไม่ใช่สิ่งสุดวิสัย ซึ่งพระพุทธเจ้ารับสั่งว่าถ้าพระองค์ทำได้มนุษย์ทุกคนก็ทำได้ ถ้าพระองค์ตรัสรู้และพ้นทุกข์ได้ ตรัสรู้คือการช่วยตัวเองพ้นทุกข์ได้ด้วยตัวเอง แต่พวกเราเรียกว่าบรรลุธรรม ที่สามารถบรรลุสถานการณ์ที่เคยเป็นตัวถ่วงทับที่เราไม่พบกับอิสระ แต่พอเรามีศรัทธาที่มนุษย์ทุกคนสามารถจะไปสว่างได้โดยมีวิธีการมีมรรค มีศีลและสมาธิ และทุกคนก็จะเข้าไปโค้ชให้มีศีล สมาธิ และทำให้เกิดปัญญาในบริบทนั้นของคนที่เข้ามาของคำปรึกษาหรือไว้ใจโค้ช แม้ฝรั่งเองคุณแม่ก็เชื่อว่าโค้ชนำสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้กว่า 2,000 ปี มาปรับให้เข้าใจมากขึ้น


คุณสมบัติอื่นที่โค้ชต้องมีนอกจากจริยธรรม และทำให้ดูมีความสุขให้เห็น


คุณพจนารถ


เข้าใจชีวิตก่อนว่าอะไรเป็นอะไร พระอาจารย์ ว.วชิรเมธีบอกไว้ นั่นคือ “หัดการก้าวข้ามสมมุติให้เป็น” เพราะทำให้เราเข้าใจชีวิตจริงๆ ว่าไม่ได้ตกอยู่ในภายใต้เงื่อนไขใดๆ เนื่องจากมนุษย์เกิดมาก่อนที่จะมีศาสนา ก่อนมีประเทศ ก่อนมีกฎกติกาของสังคม โค้ชที่ดีต้องเข้าใจชีวิตก่อนว่าอะไรเป็นอะไร คนที่เขามาคุยกับเราเขาประสบอะไร เขาเอาอะไรไปผูกกับอะไรเขาถึงได้เจอปัญหานี้ เราต้องพยายามช่วยเขาให้เห็นว่าเขาผูกอะไรไว้ เพราะจู่ๆ ชีวิตจะเป็นทุกข์หรือมาหาคนที่อยากให้ช่วยเหลือ แต่การที่ติดอะไรทำให้คิดถึง วงจร “ปฏิจจสมุปบาท” ว่าต้องมีที่มาถึงมาเป็นปัญหาวันนี้ หรืออาจใช้เรื่อง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ได้เลย

“จริงๆ Coaching ไม่ได้แก้ทุกข์อย่างเดียว แต่พาให้ไปสุขก็ได้ ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่เข้ามาแก้สิ่งที่เป็นปัญหา เพราะเขามาด้วยทุกข์หน้าที่เราคือการทำให้เขาเห็นสมุทัย พาเดินไปจนแก้นิโรธให้เห็นว่ามันมีทางออก ถ้าคุณเลือกคุณก็ปฏิบัติด้วยการเลือกมรรค ถ้าสรุปสั้นๆ การ Coaching คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค”

Coaching ฝรั่งเขาพยายามจะหาโมเดลว่า ประเด็นต่างๆ ที่ติด ติดมาจากอะไร เช่น ปมประเด็นปัญหาที่ให้จากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ เราก็สามารถใช้ Defining Moment หรือ Timeline Therapy ก็ได้ เพราะโค้ชจะมีสารพัดโมเดล แต่ถ้าเราตั้งหน้าจะใช้โมเดลใด แปลว่าเรากำลังจะปล่อยของ แต่จริงๆ เราต้องฟังแบบไม่มีโมเดลไปเลย จนกระทั่งเราแน่ใจและเข้าใจปัญหาแล้ว แล้วค่อยเปิดกระเป๋าเอาเครื่องมือนี้ออกมาใช้


ปฏิจจสมุปบาทคือกระบวนการของธรรมชาติ


แม่ชีศันสนีย์


การที่เห็นอริยสัจ 4 การที่เป็นโค้ชหรือคนที่เข้ามาขอคำปรึกษา ถ้าเข้าใจ “จิต” คือการทำหน้าที่ต่ออริยสัจ 4 หรือที่พูดปฏิจจสมุปบาท ทำไมเราจะไปอยู่เหนือสมมุติได้ เพราะทุกข์มีไว้เป็นปรากฎการณ์ให้เราเห็นมัน ถ้าเราเห็นทุกข์ได้ แล้วรู้ว่าทุกข์ไม่ได้เกิดขึ้นมาโดยไม่ได้บังเอิญมันเกิดขึ้นได้โดยเหตุปัจจัย คือ “อวิชชา” คือความไม่รู้ ตัวอวิชชานี่แหละคือ “สมุทัย” คือเหตุแห่งทุกข์ จิตต่อทุกข์ คือต้องกำหนดรู้มันก่อน อย่าหนีทุกข์ อย่าร่ำไรรำพันต่อทุกข์ ต้องรู้กำหนดรู้ว่าทุกข์ เช่น รู้ว่ากำลังโกรธ ถ้าเข้าใจจิตต่อทุกข์ เราจะรู้ว่าอะไรเป็นเหตุของการโกรธ จะรู้ว่าสมุทัยคือเหตุแห่งทุกข์เหตุ ก็คืออวิชชา


“จิตต่อสมุทัยคือ “ต้องละ ต้องวาง ต้องเปลี่ยนแปลง” เมื่อเราทำแล้วละได้ นั่นคือ ละอวิชชาได้ เพราะอวิชชาคือสมุทัยเหตุแห่งทุกข์ จิตต่ออวิชชาคือต้องละมัน ได้รางวัลเป็น “นิโรธ” คือ ทุกข์ดับ คือพ้นทุกข์ โดยการละอวิชชา เวลาจะเห็นว่าเราทำจิตต่อนิโรธได้คือการทำให้มันแจ้ง ถอนอวิชชาได้เราจะได้นิโรธ ถ้าเราเห็นทุกข์เราจะถอนอวิชชา โดยมีผลคือนิโรธ ซึ่งบอกเลยว่า เรากำลังทำจิตต่ออริยสัจ 4”

สุดท้ายคือมรรค จิตต่อมรรคคือการภาวนา ที่ไม่ใช่ไปวัดหรือเข้าคอร์สอบรม แต่การภาวนาคือการทำให้ดีขึ้นเจริญขึ้น อยู่ในวิถีชีวิตประจำวันหรือลมหายใจเข้าออกของเรา มรรคภาวนาคือการเจริญ ศีลและสมาธิ แล้วทำให้มีปัญญามากขึ้น สมาธิคือจิตที่บริสุทธิ์ที่ตั้งมั่น การงานของมนุษย์คือกรรม กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ของเรามันสุจริต ผลก็จะสุจริต


ถ้าเราใช้ในอริยสัจ 4 ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เรากำลังทำงานที่จะพ้นทุกข์เลย การจะเป็นปฏิจจสมุปบาท 12 ประการคือการอาศัยกันและกัน ซึ่งไม่ใช่ความบังเอิญ ศาสนาพุทธไม่มีความบังเอิญ ที่มันมีเหตุแห่งปัจจัยที่อาศัยกันและกันเกิดขึ้น ถ้าเราเข้าใจสิ่งเหล่านี้อย่างละเอียดละอออยู่ในวิถีชีวิต ไม่ว่าจะคนที่เข้ามาปรึกษาก็จะบรรลุได้ โค้ชก็จะได้เรียนรู้กับการที่เป็นผู้เข้าใจกระบวนการนี้อย่างลึกซึ้ง และจึงเป็นผู้ร่วมเดินทางกับสรรพสัตว์ที่กำลังทุกข์อยู่ ก็จะเข้าไปอยู่ในกระแสที่ฉุดช่วยได้ ไม่ใช่ช่วยแบบเอาตัวเองเป็นใหญ่ที่บอกเราช่วยได้ แต่การฉุดช่วยนี้คือการพากันข้าม เหมือนเรากำลังข้ามพ้น เราต้องมีหัวใจของคนที่จะเป็นเพื่อนร่วมทุกข์

“Coaching ต้องมีหัวใจของเพื่อนร่วมทุกข์ หัวใจของโพธิสัตว์ที่จะพากันเดินไปด้วยกัน และต้องข้ามสถานการณ์ที่เราต้อง ละมัน เปลี่ยนมัน บรรลุจากการอิสระจากมัน นั่นคือการภาวนา นั่นคือ มัคคภาวนาไปด้วยกัน”

ซึ่งกระบวนการเหล่านี้มีมานานหลายพันปี จนมีศาสนาต่างๆ เกิดขึ้น ซึ่งก็ไม่หนีปฏิจจสมุปบาทเพราะเป็นกระบวนการของธรรมชาติ ปฏิจจสมุปบาทเป็นธรรมที่มีมาก่อนพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงจึงตรัสรู้ธรรม ปฏิจจสมุปบาทเหมือนเป็นกระบวนการของธรรมชาติล้วนๆ ที่พระองค์เข้าไปเห็นในวันตรัสรู้จึงได้เข้าใจชีวิตโดยถ่องแท้และสามารถมาอธิบายให้พวกเรา มีหนึ่งคนทำได้มนุษย์คนอื่นก็สามารถทำได้ ไม่ใช่สุดวิสัย


กระบวนการเหล่านี้อยากให้ช่วยกันทำให้มนุษย์ที่เข้ามาปรึกษาโค้ช หรือตัวโค้ชได้รู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นธรรมชาติล้วนๆ ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจบทบาทของสมมุติ เมื่อเราเข้าใจสมมุติ สมมุติไม่ได้มีให้เรายึดติด ไม่ได้มีไว้ครอบเรา แต่สมมุติเพื่อให้เราวิมุตติ คือ การออกจากมัน เรามีสมมุติเพื่อไม่ได้เป็นเราเป็นฉันอย่างที่เราสมมุติ ไม่ใช่แม่ชีศันสนีย์คือนักบวช แต่เราใช้สถานการณ์ของการมีสถานะตอนนั้น ที่คุณแม่ก็จะมีพฤติกรรมของนักบวชที่อยู่บนอริยมรรคมีองค์ 8 เพื่อทำให้เราไปให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์คือพ้นทุกข์ เราก็จะมีสมมุติเป็นไปเพื่อวิมุตติ


ท่าน ว.วชิรเมธี บอกไว้ นั่นคือ “มองข้ามสมมุติให้เป็น” ไม่ใช่หมายความว่าจะลืมว่าเป็นเรื่องสมมติ แต่บทบาทที่เราอยู่บนสมมุติมันเป็นไปเพื่อให้เราท้าทายตัวเองหรือเปล่า เพื่อที่จะให้เราไปสู่การพ้นทุกข์หรือวิมุตติ นี่คือกระบวนการทั้งหมดที่พระพุทธเจ้าทรงเข้าไปเห็น และเป็นเหมือนพระบรมครูที่มานำทางให้พวกเราดูแลชีวิตให้เป็นในกระบวนการของการภาวนา โดยมีปัญญาเป็นดั่งสารถีเพื่อให้เราไปสู่การมีอิสรภาพ

ความกังวลต่อคนที่เข้ามาเป็น Coaching


คุณพจนารถ


มีความกังวลใจกับคนที่เดินทางเข้ามาเป็น Coaching การทำเป็นอาชีพก็เป็นสิ่งที่หวังดี แต่อาจจะไม่ได้ช่วยให้เขาก้าวไปข้างหน้าได้อย่างสร้างสรรค์ การดำรงตนของโค้ชเป็นพลังงาน ต่อให้ฝึกอย่างไรก็ตาม แต่ถ้าภายในใจเราไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราฝึกมันจะมีพลังที่ขัดแย้ง ตอนที่เรานั่งอยู่กับคนๆ หนึ่งก็จะส่งออกไปในแบบที่เราก็ไม่รู้ตัว คนที่เป็นโค้ชต้องรู้จักว่าอะไรเป็นอะไร เข้าใจชีวิต ที่มาที่ไปของคน แต่ดำรงตนในสมมุติอย่างมีสติเพื่อเดินทางไปสู่วิมุตติได้ ถ้าเรารู้อะไรเป็นสมมุติเราก็ต้องเคารพสมมุติด้วย แต่เส้นทางการเดินทางของเราก็จะเดินไปสู่วิมุตติ


ต่อให้เป็นหนังพระพุทธเจ้าที่สร้างมาทีหลังก็น่าจะอยู่บนพื้นฐานประวัติศาสตร์ที่เยอะ ทุกตอนจิมมี่สามารถนำมาสอนการเป็นโค้ชใช้โมเดลของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ อยากให้มี Passion กับอาชีพนี้ เพราะทุกครั้งที่ออกไปทำงานเหมือนเป็นการไปปฏิบัติธรรมหรือการภาวนาของอาชีพนี้ด้วย


แม่ชีศันสนีย์