บทเรียนจากอดีต เพื่อการอยู่รอดในอนาคต - DIE ANOTHER DAY
อัปเดตเมื่อ 19 ส.ค. 2564

รายการห่วงใย Insights "บทเรียนจากอดีต เพื่อการอยู่รอดในอนาคต - DIE ANOTHER DAY"
แขกรับเชิญ - คุณสุวภา เจริญยิ่ง อุปนายก สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ผู้ดำเนินรายการ - ดร.ณัฐวุฒิ กุลนิเทศ CEO ADGES และ Content Director เพจห่วงใย Thai Business
เพราะโควิด-19 ยังอยู่กับเราไปอีกนาน มาติดตามว่าธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กอย่าง SME จะมีสูตรสำเร็จในการพาธุรกิจให้รอดอย่างไร ซึ่งวันนี้ได้รับเกียรติจากคุณคุณสุวภา เจริญยิ่ง อุปนายก สมาคมนักวางแผนการเงินไทย ผู้เชี่ยวชาญตลาดทุน และได้ช่วยให้บริษัทที่พร้อมเสนอขายหุ้นให้ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) เพื่อจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกว่า 80 แห่ง ได้มาช่วยวิเคราะห์ถึงภาวะวิกฤตครั้งนี้มีความเหมือนหรือความต่างจากในอดีตอย่างไร ขณะที่บทเรียนในอดีตได้สอนอะไรกับเรา รวมถึงการเตรียมรับมือกับปัจจุบันที่จะต้องทำอย่างไร เพื่อให้ตัวเองและบริษัทเป็นผู้อยู่รอด หรือถึงจุดยอมถอยเพื่ออนาคตที่ดีกว่า
ทั้งหมดนี้ภายใต้การจำลองว่าเหตุการณ์ที่กำลังเผชิญกับโควิด-19 ครั้งนี้เหมือนอยู่ในสถานการณ์เครื่องบินกำลังจะตกและใกล้แตะพื้นโลก ในหนังเรื่องเจมส์บอนด์ ตอน DIE ANOTHER DAY
วิกฤตครั้งนี้มีความเหมือนและความต่างอย่างไรกับวิกฤตในอดีตที่ผ่านมา
นึกถึง James Bond - Skyfall เพราะวันนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าฟ้าก็ร่วงลงมาได้ แต่ละคนไม่ได้มีความแตกต่างใดๆ โดยวิกฤตปี 2540 หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง เรื่องราวเกิดขึ้นและผลกระทบมากที่สุดคือ สถาบันการเงินเพราะมีหนี้มหาศาล แต่วิกฤตที่เกิดจากโควิด-19 รอบนี้ไม่ได้มีสัญญาณอย่างนั้น เพราะเวลานี้เมื่อปีที่แล้ว เรายังคิดว่าปีนี้เราจะรอดพ้นจากโควิด-19 แล้ว อย่างเก่งเรามองกันว่าวัคซีนจะมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วและเริ่มฉีดกัน 6 เดือนก็น่าจะหลุดพ้นจากโควิด-19 แต่ตอนนี้ตัวเลขติดเชื้อใกล้วันละ 10,000 รายและเพิ่มขึ้นทุกวัน และมาด้วยตัวเลขที่น่ากลัวมากๆ
สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับว่า เหตุการณ์ครั้งนี้มาเร็วและเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่ได้มีคุ้นเคยมาก่อน หมายถึง ไม่มีใครรู้วิธีแก้ไขหรือวิธีรับมือกับโควิด-19 กันมาก่อน รวมทั้งยังมีการประเมินเวลาผิด เนื่องจากทุกครั้งที่วิกฤตเกิดขึ้นมา Business Life Cycle จะเฉลี่ยอยู่ที่ 7-12 ปีเสมอ เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดวิกฤตขึ้นส่วนใหญ่ สิ่งที่เป็น Pattern คือ ภายใน 3-4 ปีแรกจะเริ่มมีการฟื้นตัวกลับมา อย่างวิกฤตปี 2540 เมื่อปี 2543 หลายอย่างเริ่มฟื้นตัวกลับมา และจนปี 2545 ไทยก็ออกจาก IMF ก่อนกำหนดและถือเป็นปีที่กลับมาสูงสุดหลังจากเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งขึ้นมา
ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดคือ สิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2540 เราถูกกระแทกพื้นแรงมาก ซึ่งตามมาด้วยของการลอยตัวค่าเงินบาทและการปิดสถาบันการเงินทั้งหมด 56 แห่ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับโควิด-19 นี้ สิ่งที่แตกต่างคือ 1. สถาบันการเงินมีความแข็งแรงมาก สิ่งหนึ่งที่เห็นคือ แบงก์ยังมีการให้สินเชื่อกับลูกค้ารายย่อยหรือ SME 2. ตลาดการเงินก็ยังถือว่าสมบูรณ์ จนหลายคนก็รู้สึกว่าตลาดหุ้นไม่ได้ลงแรงมากนัก ปีที่แล้วในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ครั้งแรกตลาดหุ้นปรับลงไป 30 % ทันที แต่ดัชนีก็กลับมาได้ในระยะเวลาไม่ถึง 4 เดือนด้วยซ้ำ ขณะที่ปีนี้ดัชนีหุ้นก็มีปรับตัวกระแทกลงมาบ้างแต่ก็ยังสามารถยืนในระดับ 1,500 จุดได้ ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่แข็งแรง และยังมีหุ้น IPO ใหม่ที่เข้าตลาดหลักทรัพย์เกือบทุกเดือน โดยที่ทุกตัวก็ยังมี Performance ที่ใช้ได้ นั่นแแสดงว่าความมั่นใจในตลาดทุนยังมี กระแสเงินยังมี และตลาดเงินในสถาบันการเงินก็ยังไปต่อได้
แต่สิ่งที่หายไปคือ ตอนปี 2540 วิกฤตต้มยำกุ้งเกิดขึ้นเพียงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะฉะนั้นในภูมิภาคนี้เกิดการลดค่าเงิน แต่ภูมิภาคอื่นไม่ได้เป็นอะไร เราก็ใช้จังหวะนั้นในการสร้างสรรค์ให้เกิดธุรกิจการท่องเที่ยวเข้ามาในราคาที่ถูก รวมถึงเกิดการขายสินทรัพย์ในราคาถูกออกมา มีกลุ่มผู้ลงทุนต่างประเทศเอาเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เช่น กลุ่ม GE Capital มาซื้อสถาบันการเงินและกลายเป็นแบงก์ต่างชาติ
ขณะที่วันนี้ต่อให้สินทรัพย์เราลดราคาถูกๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีกำลังซื้อเข้ามา เพราะวิกฤตรอบนี้สิ่งที่แตกต่างคือ เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นทั่วโลก และอาจทำให้อุตสาหกรรมที่เคยแข็งแรงในอดีตของไทย อย่างธุรกิจท่องเที่ยวอาจกลับมาไม่เหมือนเดิม เนื่องจากทำให้คนคิดว่าอยู่บ้านก็ได้ อย่างมีศัพท์คำว่า"เที่ยวทิพย์" หรือผู้คนเดือดเนื้อร้อนใจก็ดู Streaming ต่างๆ อยู่บ้านได้ ซึ่งต่างจากเมื่อก่อนที่ต้องไปช้อปปิ้งตามที่ต่างๆ หรือ on-site แต่ตอนนี้ช้อปปิ้งออนไลน์ได้ตลอดเวลา สิ่งที่ทำให้เห็นชัดเจนเลยคือ
สภาพแวดล้อมของวิกฤตมีความแตกต่างอย่างชัดเจน
พฤติกรรมของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงชัดเจน
ธรรมชาติของธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลง ที่สมัยก่อนเศรษฐกิจไม่ดีก็หมายถึงน้ำลง แล้วกลับมาน้ำขึ้นเมื่อเศรษฐกิจดี แต่ตอนนี้หลายคนบอกว่าแม่น้ำได้เปลี่ยนสายไปแล้ว และเมื่อน้ำกลับมาก็อาจจะไม่ได้กลับมาไหลที่เดิมแล้ว หรือไม่ได้กลับมาไหลกลุ่มเดิมอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีตแล้ว
ต้นทุนทางการเงินที่แตกต่าง โดยยังสามารถ Create เรื่องต้นทุนทางการเงินที่แตกต่างได้เช่นกัน เช่น สมัยก่อนทำรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งต้องเสียเงินทำค่าโปรดักชั่น แต่วันนี้เราสามารถคุยกับผ่านโปรแกรมออนไลน์ได้ง่ายๆ โดยที่ต้นทุนเป็นศูนย์ หรือวิชาความรู้ต่างๆ ก็สามารถหาได้จากโลกออนไลน์ได้เยอะ โดยสถาบันการเรียนต่างประเทศชื่อดังต่างๆ ก็มี Class ให้เรียนฟรีออกมามากมาย รวมถึงยังมี Content ดี ที่สามารถหาดูได้เยอะแยะไปหมดในปัจจุบัน
“สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้คือ คนที่ปรับตัวเปลี่ยนแปลงและแก้ไขได้ จะได้ประโยชน์สูงสุดบนต้นทุนที่ถูกกว่าคนอื่นหลายร้อยเท่า และมีประเด็นต่างๆ ที่จะสามารถจับขึ้นมาเป็นประเด็นได้หลากหลายกว่าเมื่อก่อน”
เมื่อมีความแตกต่างแล้ว ความเหมือนก็มีเช่นกัน เพราะเมื่อไรที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้น “คนจะระวังเรื่องการใช้จ่าย” และก็มีผลต่อคนที่จะใช้งบเพื่อการโปรโมทหรือโฆษณาสินค้า เพราะมีความไม่แน่ใจ และยังส่งผลต้องลดกำลังการผลิต ลดจำนวนผู้คน ลดแรงงาน โดยอีกระยะหนึ่งก็อาจเห็นการเขย่าเรื่องที่ต้องมีการเอาคนออก เปลี่ยนชั่วโมงการทำงาน หรือลดขนาดออฟฟิศลง แต่ก็เป็นสิ่งที่จะต้องเจอกันทั่วโลก
ข้อแนะนำเพื่อเป็น Check List การทำธุรกิจตอนนี้ เพราะ SME หรือธุรกิจบางกลุ่มถึงขนาดที่ไม่มีลูกค้าเลยจากผลโควิด-19
1) ธุรกิจตัวเอง ต้องดูว่าธุรกิจเราตอนนี้ถ้าไปข้างหน้าจะสามารถสู้กับคนอื่นไหวหรือไม่ ใช่ธุรกิจที่อยู่ในเทรนด์หรืออยู่ในกระแสหรือไม่ที่จะสามารถฟื้นตัวกลับมาได้ สมมุติเป็นร้านอาหาร คุณอยู่ในห้างแต่มาทำออนไลน์ ตอนนี้คนซื้อของออนไลน์จากคุณหรือไม่ ซึ่งร้านอาหารในห้างเป็นราคาที่ Price Point การมาขายออนไลน์ในราคาเดียวกับในห้างเป็นไปได้ยากมาก เพราะการที่คนมาจ่ายราคานั้น เขาต้องการมาเสพบรรยากาศและเสพการบริการของร้านคุณ แต่ถ้าคุณทำออนไลน์ต้องมาทำอีกราคาหนึ่ง
2) ตัวคุณเอง ขอยกตัวอย่าง คุณอัจฉรา บุรารักษ์ หรือ คุณปลา เจ้าของร้านอาหาร"กับข้าวกับปลา" ที่สามารถฝ่าวิกฤตร้านอาหารจนสามารถปรับมาเป็นการขายออน์ไลน์ได้อย่างมหัศจรรย์ และเปิดแบรนด์ที่ทำดิลิเวอร์รี่ และ ทำ Co-Brand เอง อย่าง "ฟ้าปลาทาน" เพราะเขามองว่าธุรกิจของเขายังเป็นสิ่งที่ใช่อยู่ แต่เขายอมเปลี่ยนวิธีการรและกระบวนการในการเข้าถึงลูกค้า อันนี้คือสิ่งที่น่าสนใจ เช่นเดียวกับ คุณธนพันธ์ วงศ์ชินศรี หรือต้น เจ้าของแบรนด์ "เพนกวิน อีท ชาบู" จากขายชาบูนั่งร้านไม่ได้ ก็ขายพร้อมหม้อทั้งแบบใบเล็กและใบใหญ่ พอมาปีนี้หม้อหมดและยังเจอวิกฤตอีกครั้งก็มาขายทุเรียน ขายไอติมทุเรียน แล้วก็กลับมาขายชาบูอีก แต่สิ่งที่ตามมานั่นคือ พวกเขากำลังทำอะไรอยู่? เช่นเดียวกัน
“ถ้าคิดว่าธุรกิจคุณยังอยู่ วันนี้ต้องอยู่ให้ได้ การอยู่ให้ได้ นั่นหมายถึง ยอดขายคือฟ้าประทาน สวรรค์ให้ แต่ต้นทุนคือสิ่งที่เราสามารถลิขิตเอง และต้นทุนที่เราลิขิตเองนั้นต้องอยู่ให้ได้ แล้วเราอยู่ได้จริงหรือไม่ โดยไม่โกหกตัวเอง”
เช่น เดือนหนึ่งเรามีค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนที่ 3 แสนบาท ต้องหาอะไรที่ Match กับต้นทุนว่าเราอยู่ได้หรือไม่กับต้นทุนระดับนี้ ถ้าอยู่ได้ก็อย่างน้อยประคับประคอง หายใจเบาๆ แต่ถ้าอยู่ไม่ได้เรามีเงินเก็บทั้งหมดเท่าไรเอาออกมาให้หมด แล้วดูว่าเราสามารถอยู่ได้ทั้งหมดกี่เดือน จากต้นทุน 3 แสนบาท ถ้าจะอยู่ให้ได้ 6 เดือน ต้องมีเงินในมือแล้ว 1.8 ล้านบาท หรือพร้อมที่จะใส่หน้าตักหรือไม่ หรือพร้อมไปคุยกับสถาบันการเงินหรือไม่ เพราะแบงก์อาชีพเขาเลยคือการปล่อยกู้ เพราะฉะนั้นเขามีความสามารถในการดูเรื่องราวของเรา มีความเข้าใจในธุรกิจเรื่องราวของเรา เขาเก่ง ซึ่งถ้าเราต้องการเงินก็เดินเข้าไปคุยกับเขาเลย ถ้าเขาไม่ปล่อยกู้เราแสดงว่านี่ขนาดมืออาชีพไม่กล้าปล่อยกู้เรา ก็ต้องถามเขาเลยว่าทำไมไม่ปล่อยกู้เรา เราติดตรงไหน ก็ให้เขาช่วยวิเคราะห์ให้เลย เราก็จะเห็นภาพตัวเองที่ชัดขึ้น
ดังนั้น อันดับแรกคือ ธุรกิจไหวหรือเปล่า ถ้าไหวถึงเดือนไหน ไหวถึงเวลาไหน และต้นทุนที่ต้องทำให้ธุรกิจไหวต้องใช้เงินเท่าไร เงินก้อนนี้คุยกับแบงก์ก่อนหรือไม่ ถ้าคุยกับแบงก์ก็จบ แต่ถ้าแบงก์ไม่จบ แต่คุณมั่นใจในธุรกิจตัวเอง เปิดกระเป๋าสตางค์และดูกระเป๋าตัวเองดูว่ามีเท่าไรที่พร้อมจะทุุมหน้าตัก
“วันนี้ถ้าคุณไม่ไหว กู้แบงก์ไม่ไหว ไปต่อไม่ไหว การหมอบไม่ใช่การยอมแพ้ แต่ถือว่าเป็นการรักษาทุกอย่าง หรือเป็นการรักษาพลังงานไว้ก่อน ดีกว่าเอาแรงทั้งหมดวิ่งตะบึงออกไป แล้วไม่รู้ว่าจะไปไหน เสียแรงเปิดร้านทุกวัน ซื้อของสดทุกวัน เป็นสต็อกสินค้าไปเพื่ออะไร ในเมื่อเป็นสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถขายได้ ถ้ารอบแรกรู้ว่าไม่ไหวก็หมอบ แต่ถ้าจะสู้ ก็ต้องรู้ว่าจะสู้กับอะไรอยู่ หน้าตักที่คุณไหวคือเท่าไร เพราะถ้าแบงก์ไม่ให้แล้วทุนเราเท่าไร หรือชักชวนเพื่อนฝูงได้หรือไม่มาใส่เงินร่วมกัน”
มองให้ชัดระยะ 3 - 6 เดือน หรือตั้งเป็นกรณีเลวร้ายสุดถ้าโควิด-19 ไม่หายไปไหน
ต้องมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้เราต้องอยู่กับมันให้ได้ อย่างวันก่อนที่สัมภาษณ์ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ที่เคยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายเรื่องเด็กๆ หมูป่าที่ติดถ้ำ ท่านพูดว่า
“สิ่งที่คุณเจอเป็นวิกฤตหรือเปล่า เพราะถ้าคุณเจอวิกฤต คุณอย่าแก้ปัญหาด้วยเรื่องราวหรือวิธีการแบบปกติ มันต้องแก้ปัญหาแบบวิกฤต มันต้องคิดต่าง และอย่างสถานการณ์ตอนนี้ต้องคิดให้ต่างไปเลยว่า ถ้าโควิด-19 ไม่หาย เราจะสู้อย่างไร”
ตั้งแต่จะมีการให้วัคซีนเลย หรือจะสู้กับกำลังซื้ออย่างไร เช่น คนหนึ่งที่รู้จักเขาเริ่มจากการขายหน้ากากอนามัย ทำสเปรย์ฉีด และถึงวันนี้ถึงขั้นเปิดบริษัทรับทำความสะอาด บริการรับทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศเพราะคนอยู่บ้านกันมากขึ้น แล้วก็ใส่ชุด PPE ไปทำ นั่นคือการปรับตัวที่พยายามทำให้อยู่กับเรื่องราวที่เป็นบนความชำนาญของเรา แล้วสิ่งที่มาถึงวันนี้คือมีตัวเลขทางธุรกิจมหาศาล
“คิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดตอนนี้คือ ทุกคนต้องรู้จุดแข็งของตัวเอง ส่วนจุดอ่อนเป็นสิ่งที่ไม่ต้องเสียเวลาไปหาเพราะทุกคนย่อมมีทั้งนั้น แล้วก็ไม่รู้ว่าจะไปค้นทำไมในเวลาอย่างนี้”
จะ DIE ANOTHER DAY แล้ว จะไปขับเครื่องบินไม่ทันแล้ว จะไปฝึกกระโดดร่มไม่ทันแล้ว หรือจะขอเกาะไปโดดร่มกับคนที่โดดร่มเป็น หรือเราจะประคองให้แบบร่อนลงดีมั้ยเพื่อสงวนพลังงาน แล้วพอจะกระแทกลงพื้นก็ค่อย Start Engine ใหม่จะได้มีแรงผงกหัวขึ้นไปก่อน แล้วค่อย Down Engineใหม่เพื่อที่จะไม่ให้เกิดแรงกระแทกที่เร็วและหนัก
หรือการที่เราอยู่กัน 2 คน เราจะมาเช่าร้านรวมกัน กลุ่มลูกค้าเดียวกัน ส่งของไปด้วยกัน เธอขายน้ำฉันขายข้าว หรือเอาใหม่ ฉันเป็นบริษัท Adviser หรือจะมาช่วยในเรื่องของการจัดการปัญหา เช่น ช่วยลูกค้าดูเรื่อง Run Cash Flow ดีหรือไม่ หรือดูแลเรื่องราวต่างๆ เพราะส่วนตัวยังคิดว่าทุกที่ยังมีงานให้ทำอยู่
แนวคิดที่ควรพิจารณาให้ดี เพราะทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส อย่าไปยึดติดกับอดีตที่เคยทำมา
ถ้าเป็นธุรกิจค้าขาย วันนี้สิ่งแรกคือกลับไปดูลูกค้าเรา เพราะถ้าเรายังมีลูกค้าอยู่แสดงว่าเรามีเพชรในมือแล้ว และวิเคราะห์ลูกค้าให้ชัดว่าเขาอยากได้อะไร การที่เขายังชอบเรา ซื้อของเราอยู่ แสดงว่ามันมีอะไรอยู่ เช่น สมัยก่อนมาซื้อก๋วยเตี๋ยวร้านนี้เพราะเป็นร้านก๋วยเตี๋ยวที่ให้ลูกชิ้น 20 ลูก แต่ตอนนี้มาลดลูกชิ้นเหลือ 4 ลูก นั่นแสดงว่า คุณกำลังทำลายความสัมพันธ์มหาศาล และเป็นสิ่งที่คนชอบทำมากคือ เวลาเศรษฐกิจไม่ดีคือการลดคุณภาพของ หรือลดราคากับสิ่งที่เคยให้
สิ่งที่ต้องวิเคราะห์ลูกค้าคือ ลูกค้ามาหาคุณเพราะอะไร ยกตัวอย่าง มีร้านกาแฟแห่งหนึ่งตั้งอยู่ในที่มีรถพลุกพล่าน แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ตอนนี้ไม่มีรถพลุกพล่านเหมือนเมื่อก่อน เขาจึงเริ่มให้พนักงานขับบริการส่งกาแฟแบบรถพุ่มพวงไปตามบ้านในระยะรอบร้านกาแฟ 3 กม. เพราะคนไม่ออกจากบ้าน ขณะเดียวกันก็เพิ่มขนาดความจุของขวดที่ใส่กาแฟ จากเดิมอาจจะเป็นขวดเล็กๆ ก็เพิ่มขนาดขวดเป็นแกลลอนเพื่อสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นกินได้นาน สามารถกินพื้นที่ตู้เย็นในบ้านลูกค้าได้ซึ่งขนาด 7-11 ก็ยังมีการบริการส่งถึงบ้าน
“การทำธุรกิจคือ การทำให้ความต้องการลูกค้าและสินค้าของเรามาเจอกัน เรามีหน้าที่ Match2 อย่างนี้ ซึ่งคนที่สามารถ Match 2 อย่างให้เจอกัน นั่นคือคนที่ประสบความสำเร็จแล้ว”
ข้อคิดสำหรับคนที่กำลังมีงานทำอยู่ และสำหรับคนที่กลัวว่าจะตกงาน
ต้องบอกว่าทุกคนที่มีงานทำวันนี้ต้องขอแสดงความยินดีด้วย และควรยึดงานนั้นให้แม่นและหนัก แต่ก็ต้องถามกลับว่า คำว่าให้หนักนั้นคือ ความมั่นคงในงานของคุณตอนนี้
“สิ่งหนึ่งคือการทำงานให้หนักและก็ทำงานให้เกิน เพราะถ้าเราทำเกินเงินเดือนหรือทำเกินสิ่งที่เขาคาดหวัง ซึ่งก็สามารถใช้กับ SME ได้ด้วย เช่น ถ้าเราให้เกินไปกับลูกค้า แถมนั่นนี้นิดหน่อย มันคือสิ่งที่ทำให้เราสามารถได้ใจและยืนระยะได้ เพราะฉะนั้นทำเกินดีกว่าทำขาด”
สิ่งที่หลายคนมี Mindset ว่าจ้างเท่านี้ฉันก็ทำเท่านี้ ออกเวลาเลิกงานพอดี หรือการที่ตอนนี้ลดทำงานเหลือ 3 วัน ก็ไม่ทำงานเลยได้มั้ย 3 วันนี้ แต่ถ้าคิดว่าการที่เขาลดเหลือเวลาทำงาน 3 วันแต่เรายังทำเกินให้เขาอีก หรือช่วยทำให้บริษัทดีขึ้นได้ ช่วยคิดช่วยวางแผน ตรงนั้นคือสิ่งที่สำคัญที่สุดมากกว่า
คำแนะนำหรือการเอาตัวรอดของ SME ในการประคองธุรกิจระยะ 3 - 6 เดือน ก่อนที่วัคซีนจะมา
เหมือนที่เคยพูดมาตลอด อะไรที่เงินซื้อได้ ก็สามารถสละได้หมด ตั้งแต่ รถ บ้าน แก้วแหวนเงินทอง นาฬิกา ปากกา อะไรที่เงินซื้อได้ ถ้าสละวันนี้พอมีเงินกลับมาก็สามารถกลับมาซื้อได้ แต่สิ่งที่มักเจอในวิกฤตคือ ชอบสละในสิ่งที่เงินซื้อไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น ความสัมพันธ์ ความรัก ครอบครัว ทะเลาะเบาะแว้งไปหมด ที่เป็นในเรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจ
เมื่อเกิดภาวะวิกฤตขึ้นมา เมื่อชวนไปแบงก์แล้วแบงก์ไม่ไหว เงินสดส่วนตัวเริ่มหมดไปแล้ว ก็ต้องกลับมาดูที่ทรัพย์สินว่า ตอนนี้มีทรัพย์สินอะไรบ้างที่เราสามารถสละไปได้ก่อน เช่น บ้าน รถ ขายไปก่อนเพื่อนำเงินมาหมุน อย่างตอนนี้ธุรกิจโรงแรมก็ขายโรงแรม ธุรกิจเครื่องบินก็ขายเครื่องบินไป ทั้งหมดนี้เพื่อเอากระแสเงินสดมาเลี้ยงบริษัทก่อน เช่น เอารถไปเข้าไฟแนนซ์ หรือเอาบ้านไปจำนองเพื่อเอากระแสเงินสดมาเลี้ยงก่อน อันนี้เป็นทางเลือกที่ง่ายสำหรับ SME ทุกที หรือบางทีแก้วแหวนเงินทองก็สามารถแลกเป็นกระแสเงินสด แต่ต้องมั่นใจว่าสิ่งที่ไปเทิร์นแล้วสามารถจะทำให้รอดได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดได้
โดยตอนนี้อย่างน้อยต้องมองไทม์ไลน์ถึงสิ้นปี 2564 ว่าเรายังไหวหรือไม่ ซึ่งคิดว่าสิ้นปีนี้จะเห็นการเปลี่ยนแปลงกันบ้าง ถ้าจะสู้ก็สู้ตรงนี้
หรืออีกทีหนึ่ง หรือขอคำปรึกษาหรือความช่วยเหลือจากญาติพี่น้อง โดยเฉพาะญาติที่มีฐานะที่ฝากเงินในแบงก์เยอะ หรือเพื่อนก็เหมือนญาติที่เลือกได้ แต่ต้องเป็นคนที่มั่นใจ เพราะตอนนี้จะไปฝากเงินในธนาคารได้ดอกเบี้ย 0.15% แต่เราให้สูงกว่า ช่วงนี้ก็ช่วยเหลือกันไปก่อน หรือแม้แต่เพื่อนที่มั่นใจในตัวเราก็อาจจะช่วยได้ อยากให้ลองนึกไปถึงธุรกิจ Startup ดูที่ความจริงส่วนใหญ่ผลประกอบการยังไม่มีกำไร แต่ทำไมเขาถึงสามารถระดมทุนจากผู้ลงทุนได้อยู่ เพราะสามารถพรีเซนต์ Business Model หรือ Business Plan ของเขา ที่สามารถให้ผู้ลงทุนเอาเงินมาใส่ได้
วันนี้เราเอาเงินตรงไหน เราต้องสติว่า เราจะได้เงินจากไหน ใช้เงินจากไหน ใช้เงินเท่าไร และยืนระยะอย่างไร และเรามีความเก่งตรงนี้มั้ย หลายคนอยากเปิดร้านกาแฟ แต่ชงกาแฟไม่เป็นต้องจ้างบาริสต้าอย่างเดียว เครื่องทำกาแฟราคา 1 ล้านหรือ 3 ล้านยังเลือกไม่ถูก ขนมเค้กก็ทำไม่อร่อย แต่จะเปิดร้านกาแฟ ซึ่งไม่ใช่วิธีที่ถูก
ไทม์ไลน์ของโควิด-19 และความเชื่อมั่นในทุนต่างประเทศหรือการกลับมาของธุรกิจท่องเที่ยว
สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างที่อินเดีย มาเลเซีย เมียนม่า ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะมีโอกาสเกิดขึ้นกับไทยสูงมาก เพียงแต่เราไม่คาดคิดว่าตัวเลขการติดเชื้อจะเกิดกับเราสูงมากขนาดนี้ เพราะเราเคยอยู่กับสถานการณ์ตัวเลขที่น้อยมาก ซึ่งมีคนบอกว่าที่น้อยก็เพราะเราไม่ตรวจหรือเปล่า ซึ่งวันนี้ต้องให้เครดิตและกำลังใจกับบุคลากรทางการแพทย์มากๆ
แต่สิ่งที่เราต้องกลับไปมองคือ อย่างอังกฤษที่เขาเคยระบาดหนักกว่าเราทำไมเขาฟื้นกลับขึ้นมาได้ สหรัฐก็ดีขึ้น หรือญี่ปุ่นที่เขาก็สามารถจัดงานโอลิมปิกได้ บทเรียนสำหรับเราคืออะไร เราต้องหาวิถีทางของตัวเอง อย่างการแข่งขันฟุตบอลยูโรที่เพิ่งจบ บางประเทศห้ามคนเข้าไปดู แต่บางประเทศให้คนดูเข้าได้จนเต็มสนามระดับ 7-8 หมื่นคน
"ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ เรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยกัน เราต้องรักษาตัวเองให้ปลอดภัยไม่ทำให้ไปติดคนอื่น ในแง่ค้าขายก็ต้องทำและใช้ชีวิตกันต่อไป เพียงแต่สายป่านธุรกิจระยะ 6-12 เดือนนี้ ต้องรู้ให้ได้ว่าเราจะต้องใช้เงินเท่าไร แล้วเตรียมสตางค์ก่อน แต่ถ้าวันนี้ไม่พร้อม คิดว่าน่าจะต้องหยุดก่อน ไป Reserveพละกำลังก่อนดีกว่า เพราะถ้าวันนี้ระยะทาง 12 เดือน แต่คุณว่ายน้ำได้เพียงแค่ 3 เดือน แล้วคุณหมดแรง คุณจะจมน้ำอย่างเดียว เพราะไม่มีขอนไม้มาให้เกาะ แต่ถ้ามั่นใจว่าถ้าคุณจะไปต่อ ก็ต้องมั่นใจว่ามีแรงว่ายได้ถึง 6 เดือน หรือ 12 เดือน"
และอีกตัวอย่างคือ ไม่มีใครรู้อนาคตก็จริง แต่เมื่อทุกคนเจอเหตุการณ์นี้เหมือนกันหมด เหมือนเวลาเล่นไพ่ที่จั่วไพ่ขึ้นมาในมือแล้ว ไม่มีสิทธิ์ที่จะทิ้งไพ่ลงได้ และกลับต้องเล่นให้ดีที่สุด เช่นกันเหมือนที่เราอยู่ในสถานการณ์ที่เครื่องบินกำลังจะตก เราก็ต้องทำให้ดีที่สุดในระยะเวลานั้น อย่างน้อยเราต้องคำนวณแล้วว่า ในเวลานั้นเรายังเหลือระยะเวลาเท่าไร และเรามีทรัพยากรอะไรในตัวเราบ้าง
ถ้าพูดถึงหนัง ชอบนึกถึงเรื่อง Apollo Quarantine ที่ไม่สามารถกลับพื้นโลกได้แล้ว สิ่งที่ภาคพื้นดินกำลังคิดคือ สภาพแวดล้อมบนยานอวกาศตอนนั้นมีอะไรบ้าง โดยตอนนั้นทุกคนบนภาคพื้นดินก็พยายามประดิษฐ์อุปกรณ์จากสิ่งที่มี อะไรใช้ได้หรือไม่ได้ก็ส่งให้คนที่อยู่บนยานอวกาศดู ดังนั้น
เรามีทรัพยากรจำกัด และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเกิดโควิด-19 หรือไม่ก็ตาม
เรามีเวลาจำกัด ซึ่งทุกคนก็มีเวลาจำกัดด้วยกันทั้งนั้น และ
เรามีโอกาสที่จำกัด ถ้าไม่มีโอกาสก็ให้สร้างโอกาส ไม่มีประตูก็สร้างประตู ไม่มีหน้าต่างก็ทุบหน้าต่าง แต่ทั้งหมดนั้น จากทรัพยากรที่มีจำกัดซึ่งเจอแล้ว เวลาที่มีจำกัดก็เจอแล้ว ดังนั้นมีหน้าที่อย่างเดียวคือหาโอกาสให้เจอ แล้วใช้ให้มันเต็มที่
อะไรคือบาดแผลที่โควิด-19 จะทิ้งไว้ให้กับเรา
"กลับชอบอีกมุมมอง เพราะบางทีความลำบากทำให้เราเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ได้เยอะขึ้น อย่างเช่นวิกฤตรอบนี้ทำให้ทุกคนเข้าใจเรื่องการเก็บเงินมากขึ้น หลายคนเข้าใจเรื่องการเรียนรู้และการปรับตัว สมัยก่อนแนะนำให้มีการเปลี่ยนแปลงปรับตัวแทบตาย แต่ก็จะบอกตัวเองว่า ก็อยู่แบบเดิมดีอยู่แล้วจะต้องเปลี่ยนทำไม ตอนนี้เสียงก็เริ่มเบาไปเยอะ"
อย่างสมัยก่อนไม่สนใจเทคโนโลยีหรือเรื่องออนไลน์ คุยกันแบบเห็นหน้าไม่เป็น เรียนออนไลน์ไม่รู้เรื่อง เปิดดูคลิปไม่เป็น ตอนนี้หลายคนคล่องแคล่วมาก เมื่อก่อนสั่งซื้อของออนไลน์ไม่เป็นตอนนี้กดสั่งซื้อง่ายมาก
สิ่งเหล่านี้คือ โควิด-19 ทิ้งไว้ให้ในแง่บวก คือสอนให้เราอยู่ง่ายขึ้น ใช้ชีวิตง่ายขึ้นและก็ปรับตัวได้ตลอดเวลา
"ในมุมเรื่องการศึกษาสำหรับเด็กๆ คือ เขาจะขาดสังคมของการที่จะอยู่ร่วมกัน เรื่องเนื้อหาพอไปได้ แต่การเติบโตหรือการที่จะอยู่ร่วมกันมันสำคัญสำหรับเด็กๆ มากกว่า แล้วสมัยนี้เด็กก็ไม่ได้อยากเรียนสูงๆ แล้ว เป็นครั้งแรกที่เห็นได้ชัดว่าจำนวนคนที่เรียนปริญญาตรีและปริญญาโทมีจำนวนที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด"
หลายคนเริ่มโทษเศรษฐกิจ แต่ความจริงคือเริ่มมีความหลากหลายในวิชาการมากกว่า หลายคนก็เบนไปในทิศที่ตัวเองสนใจเลย บางคนสนใจเรื่องโปรแกรมเมอร์เรียนจบมัธยมก็เอาดีไปทางด้าน Coding ทางโปรแกรมเมอร์ไปเลย จนเก่งกว่าคนจบระดับปริญญาโทแล้ว
“อยากให้ทุกคนเห็นว่า ใครที่เจอโอกาสแล้ว เราทุกคนมีโอกาส เราทุกคนสามารถเป็นอะไรก็ได้ อย่าปล่อยให้สภาพแวดล้อมปิดโอกาสคุณ รั้วอันนี้ไม่เคยมีใครล้อมคุณได้ ยกเว้นตัวคุณเอง”
เพราะถ้าคิดว่าเราไม่มีโอกาส หรือคุณปิดกั้น รู้สึกว่าสิ่งที่มานั้นทารุณโหดร้าย ลงโทษตัวคุณเอง นี่คือความน่ากลัวที่สุด อย่าได้ลงโทษหรือปิดโอกาสตัวเอง และต้องให้โอกาสตัวเอง
"สิ่งสำคัญที่สุดคือ ให้กำลังใจใครไม่สำคัญเท่ากับให้กำลังใจตัวเอง"
การมาถึงตรงนี้ได้ ถือว่าเก่งแล้วและต้องชื่นชมตัวเองที่สามารถอยู่กับสภาวะที่หดหู่และเสพข่าวทุกวัน ซึ่งควรไปดูอย่างอื่นบ้างที่ให้เฮฮาและสนุกสนานบ้าง
สิ่งที่อยากจะเห็นจากบริษัทขนาดใหญ่หรือการช่วยสังคมในสถานการณ์แบบนี้
ปกติบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์สิ่งที่ได้คือการได้มูลค่าเพิ่ม เมื่อก่อนอยู่ข้างนอกมูลค่าอาจจะ 100 บาท แต่พอเข้าตลาดหลักทรัพย์จะมีมูลค่าเป็น 1,000 บาท ซึ่งในการขายของก็จะทำให้ของมีมูลค่ามากขึ้น พอมูลค่ามากขึ้นเขาก็จะมีแรงไปจ้างพนักงานที่ดีมากขึ้น ทำของที่มีคุณภาพและดูแลลูกค้าได้มากขึ้น
“สิ่งแรกที่สำคัญของบริษัทขนาดใหญ่คือ ขอให้ยึดมั่นในการทำความดี แค่เขาดูแลลูกค้าให้ดีที่สุดก็สำคัญมากแล้ว ประเทศชาตินี้จะเข้มแข็งได้องค์กรในประเทศต้องเข็มแข็ง แล้วองค์กรที่เข้มแข็งก็คือต้องดูแลคนในองค์กรที่เข้มแข็ง ซึ่งหมายถึงลูกค้า พนักงาน supplier และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด”
วันนี้คิดว่าหลายบริษัทขนาดใหญ่ต่างก็กำลังทำอยู่ เราอาจจะได้ยินหรือไม่ยินบ้างขึ้นอยู่กับใครที่สามารถประชาสัมพันธ์ได้เก่ง ขอแค่บริษัทเหล่านี้เป็นผู้เสียภาษีนิติบุคคลยังต้องภูมิใจ เพราะปัจจุบันมีบริษัทในเมืองไทย 5 แสนบริษัท แต่มีกว่า 800 กว่าที่เข้าตลาดหลักทรัพย์และเสียภาษีเกิน 50 % ของฐานการเสียภาษีทัั้งหมดก็ต้องมีความหมายแล้ว เพราะเป็นบุคคลที่ได้ดูแลและได้จ่ายภาษีให้กับประเทศชาติ
แต่ด้วย Volume ที่ใหญ่เขาสามารถCreate ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ Vat 7 % แต่คนที่จ่าย Vat คือ ผู้บริโภคที่ต้องจ่ายกับทุกอย่างที่เราซื้อ สิ่งที่อยากให้เขาทำคือดูแลสินค้าหรือบริการที่ดีที่สุดให้กลับมายังผู้บริโภค ส่วนการที่บริษัทได้ไปจุนเจือช่วยเหลือหมอหรือที่ต่างๆ เชื่อว่าทุกคนทุกบริษัทก็ทำอยู่
“ตอนนี้อย่าให้ใครต้องแบกใคร เราจะเป็นสังคมที่ดีได้ เราต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ เมื่อเราเป็นคนที่ตัวเล็กสุด เราก็ต้องทำตัวไม่ไปติดโรค ดูแลครอบครัวเราให้ดีที่สุดไม่ไปเป็นภาระกับคุณหมอ เราช่วยใครได้เราก็ช่วยเต็มที่ ลูกน้องเราที่หาที่ฉีดวัคซีนไม่ได้ก็หาที่ทางให้เขาไปฉีดได้ ดูแลอย่าให้เขาอยู่แบบเป็นภาระเสี่ยง ตอนนี้ใครไม่สบายก็ส่งฟ้าทะลายโจรไปให้หมด ไม่กล้าที่จะเรียกร้องให้ใครมารับผิดชอบมากกว่าเดิม เพียงแต่ขอให้ทุกคนทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุด อันนี้คือสิ่งสำคัญ”