ธรรมะคือหน้าที่
อัปเดตเมื่อ 11 ส.ค. 2564

สนทนาธรรมกับท่านแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต พร้อมแขกรับเชิญพิเศษ ดร. วิรไท สันติประภพ
อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม 2564 เวลา 18.00 น. ทาง Club House
ดำเนินรายการโดย ดร. ณัฐวุฒิ กุลนิเทศ
ดร. วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นคนหนึ่งที่มีการศึกษาธรรมะ และปฏิบัติธรรมมานานตามครอบครัวตั้งแต่เด็ก และเริ่มศึกษามากขึ้นเมื่อครั้งต้องไปเรียนต่อระดับปริญญาเอก จนสามารถนำธรรมะมาปรับใช้ในการทำงานเสมือน “ธรรมะคือหน้าที่” ในทุกบทบาทที่ได้ทำไป
สิ่งที่กำลังทำปัจจุบันหลังครบวาระผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ธปท.
ดร. วิรไท
ทำอยู่หลายอย่างแต่ก็มีเวลาบริหารจัดการชีวิตได้มากขึ้น โดย 3-4 ด้าน เป็นงานเกี่ยวกับมูลนิธิ องค์กรเพื่อสังคม ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยช่วยมาอยู่ก่อนที่จะไปอยู่ที่แบงก์ชาติ โดย 3 มูลนิธิคือ มูลนิธิปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส และมีงานที่ช่วยบริษัทบางแห่งเป็นกรรมการบริษัทอยู่ รวมถึงงานแวดวงการศึกษาอยู่บ้าง ทั้งหมดนี้ยุ่งแต่ก็ยังสามารถบริหารจัดการเวลาและชีวิตตัวเองได้ดีกว่าเดิม
อะไรคือความเชื่อในบทบาทของการทำงานมาตลอด
ดร. วิรไท
ปกติเป็นคนที่จะทำงานอะไรก็จะทำให้ดีที่สุด เพราะคิดว่าทุกโอกาสเป็นโอกาสที่มีความหมาย ถ้าตัดสินใจจะทำอะไรแล้วก็จะทำให้เต็มที่ เพราะคิดว่างานหลายอย่างที่ทำเป็นสิ่งที่มีผลกับทั้งตัวเองและทั้งคนอื่น
“ถ้าคิดว่างานของเราเป็นงานที่มีความหมาย เป็นประโยชน์ ก็จะมีพลังในการทำงานออกมา เหมือนมีฉันทะในการทำ ผมไม่ได้รับงานทุกอย่าง มีคนชวนไปทำงานเยอะ แต่จะเลือกทำงานที่คิดว่าตัวเองมีความสามารถและมีฉันทะในการที่จะทำ ก็เลยทำให้คนที่เห็นรู้สึกว่าเวลาที่จะทำอะไรก็เป็นคนที่จริงจัง”
ธรรมะคือหน้าที่
แม่ชีศันสนีย์
ทำให้นึกถึงอาจารย์พุทธทาส เราก็เป็นศิษย์ของท่านที่จะคุ้นมากกับเรื่องการทำหน้าที่ การปฏิบัติธรรมที่ไม่ได้ทำให้ธรรมะห่างออกไปจากวิถีชีวิตโดยปกติของเรา ไม่ว่าจะเป็น การทำให้ธรรมะศักดิ์สิทธิ์โดยการทำงานให้จิตของเราตรวจสอบได้ 2 ทาง คือ ถ้าเราทำงานไหนแล้วจิตไม่ขุ่นมัว ธรรมะจะศักดิ์สิทธิ์ถ้าจิตไม่ขุ่นมัว ถ้าเห็นว่าทำงานอะไรเริ่มต้นด้วย ซึ่ง ดร. วิรไทบอกว่าทำงานด้วย “ฉันทะ” ถือเป็นองค์คุณที่สำคัญมากในอิทธิบาท 4
“ถ้าเรามีฉันทะในงานก็น่าจะเป็นการพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เราจะไม่ทำงานด้วยตัณหา แต่เราทำงานด้วยปัญญา เพราะฉันทะอยู่ในฝ่ายของปัญญา ถ้าความอยากจะเป็นการทำงานด้วยแรงผลักดัน หรือแรงของความทะเยอทะยาน ด้วยอะไรก็ได้ที่เราอยากจะพิสูจน์ เราแสดงศักยภาพตามในสิ่งที่เราปรารถนาเราก็จะทำได้ แต่ถ้าทำงานด้วยฉันทะจะเป็นการทำในลักษณะที่เป็นเซ็ท จะมีความเพียร ความตั้งใจมั่น เป็นนักทดลอง มันให้กำลังด้านในไปด้วย”
เมื่อเราบอกว่าธรรมะคือการทำหน้าที่เหมือนเราปฏิบัติธรรม ธรรมก็จะคุ้มครองเรา คนที่ใช้การงานเป็นฐานของการภาวนาทำหน้าที่ของมนุษยชาติ ทำหน้าที่ของปัญญาตั้งแต่ระดับโลกียะ คือ ปัญญาในการจัดการการแก้ปัญหาด้วยฉันทะ ไม่ใช่ตัณหาเข้าไปในงาน ต้องเรียกว่ามัน Success ไม่ใช่แค่การทำงานที่บ้าน แต่เป็นการทำงานจากบ้านด้านใน และนี่ก็ทำงานด้วยวิธีการฝึกหัดขัดเกลาให้เกลี้ยงเกลาจากกิเลส และผลงานที่ได้ก็สำเร็จทั้งข้างนอกและข้างใน
เพราะข้างในถ้าไม่ขุ่นมัวจะมีพลังของการเคลื่อนที่สุจริตกว่า และในความสุจริตถ้ากายกรรมสุจริต วจีกรรมสุจริต ซึ่งมาจากมโนกรรมสุจริตที่มาจากการปฏิบัติดี ปฏิบัติสุจริต ถ้ากรรมทั้ง 3 สุจริต ผลออกมาก็จะสุจริต ซึ่งก็ไม่เบียดเบียน พื้นฐานการทำงานแบบนี้จะทำให้ตัวเราเองก็จะเห็นความศักดิ์สิทธิ์ในจิตของเรา สังคมภายนอกของโลกก็เปลี่ยนไป ศักยภาพของมนุษย์มีทั้งระดับโลกียะและโลกุตระ
การนำธรรมะมาใช้ในชีวิตประจำวันจนเป็นธรรมะคือหน้าที่
ดร. วิรไท
อาจจะโชคดีที่เติบโตมาในครอบครัวที่คุณยายสนใจเรื่องศาสนา และมีคุณน้าหลายท่านที่สนใจเรื่องการปฏิบัติภาวนา เรื่องการปฏิบัติภาวนากับการประกอบศาสนพิธีจึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในครอบครัว ถือเป็นเรื่องที่โชคดีมากๆ และได้กราบครูบาอาจารย์และฟังธรรมมาตั้งแต่เด็ก
แต่จุดที่เริ่มสนใจธรรมะหรือประโยชน์ของพุทธธรรมจริงๆ ตอนที่มีทุกข์ไปเรียนปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกา สมัยก่อนแทบจะตัดขาดจากทางบ้านมีเพียงเขียนจดหมายสีฟ้า เพราะการโทรศัพท์โทรทางไกลค่าโทรจะแพงมาก อีเมล์เพิ่งจะเริ่มมีใช้ตอนที่ใกล้จะเรียนจบปริญญาเอก ซึ่งกว่า 30 ปีที่ผ่านมาโลกเปลี่ยนไปมาก ตอนนั้นจึงทำให้อยู่กับตัวเองเยอะมากภายใต้แรงกดดันหลายอย่าง ทั้งการแข่งขัน ทั้งความไม่มั่นใจว่าจะเรียนจบได้เมื่อไร หรือความไม่แน่ใจเรื่องวิทยานิพนธ์ รวมทั้งการอยู่คนเดียวสภาพอากาศที่ทรมาน จึงเป็นเวลาที่ได้อ่านหนังสือธรรมะเยอะมาก เพราะได้รับหนังสือธรรมะจากครอบครัวมาเรื่อยๆ
“พอได้อ่านหนังสือธรรมะมาก เริ่มเห็นว่าชีวิตมีทางออก ขึ้นอยู่กับวิธีคิดของเราอย่างไรให้ตรงธรรม ถ้าสามารถปรับวิธีคิดของเราได้ ทุกข์หลายอย่างก็จะหายไป และทุกข์ก็จะบรรเทาลง”
จนกระทั่งกลับมาทำงาน ก็พยายามจะหาโอกาสจะฟังธรรม แต่ช่วงแรกๆ จะรู้สึกว่าภาวนาหรือการทำเรื่องสมาธิช่วยทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น เลยมองว่าเรื่องของโลกเป็นเรื่องใหญ่ที่อยากจะทำงานให้มีประสิทธิภาพ อยากเป็นคนที่บริหารจัดการเวลาเก่ง ทำงานได้อย่างรวดเร็วมีความแหลมคมในงานที่ทำ เหมือนเอาสมาธิมาเสริมเพื่อให้การทำงานทางโลกมีประสิทธิภาพมากขึ้น
จนกระทั่งมีโอกาสเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมกับ อ. สุรศักดิ์ ที่วัดมเหยงคณ์ และได้มีโอกาสถามสิ่งที่ติดอยู่ในเรื่องการปฏิบัติหลายอย่าง แล้วท่านก็ทักมาคำหนึ่งว่า อ้าว แล้วที่โยมมาปฏิบัติ ไม่ได้มาเพื่อการพ้นทุกข์หรอกหรือ ถือเป็นคำที่มีความหมายมาก ทำให้มุมมองที่เรามีที่อยากจะทำให้การปฏิบัติภาวนาทำให้เรามีความสามารถในการทำงานทางโลก มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เราไม่ได้มองประโยชน์ที่ใหญ่กว่าของพุทธธรรม นั่นคือการปฏิบัติภาวนาที่จะนำไปสู่การที่ทำให้เรามีทุกข์น้อยลงและทำให้เราพ้นทุกข์ได้ ก็ทำให้ศึกษาเรื่องพุทธศาสนาในเชิงลึกมากขึ้น โดยเฉพาะการทำงานของกายกับใจ และการทำงานของจิต
ทำให้กลับมาถึงคำถาม “ธรรมะคือหน้าที่” มาตระหนักว่า จริงๆ แล้วเรามีหน้าที่ที่จะต้องเข้าใจธรรมะที่สำคัญ คือเรื่องของชีวิต ชีวิตหนีไม่พ้น มีอยู่ 2 อย่างคือ กายกับใจ ทำอย่างไรให้ชีวิตเป็นชีวิตที่ตรงธรรมมากขึ้น เป็นชีวิตที่สามารถเข้าใจเรื่องของการทำงานของกายและเรื่องของจิต ที่สำคัญคือการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกายกับจิตเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะเราโตมาจากความรู้เรื่องของกาย เรียนสุขศึกษามาตั้งแต่เด็กๆ แต่เราเรียนรู้เรื่องใจน้อยมาก ทั้งๆ ที่ใจที่เป็นองค์ประกอบครึ่งหนึ่งของชีวิต และความจริงอาจจะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากกว่ากายด้วยซ้ำ ที่คุณยายจ๋าบอกว่าเรื่องมโนธรรมเป็นใหญ่ เพราะถ้าสามารถจัดการเรื่องใจได้ กายก็จะมีผลที่ดีตามมา
“อันแรกที่มองธรรมะคือหน้าที่ คือจะทำอย่างไรให้กายกับใจเป็นการใช้ชีวิตที่ตรงธรรมมากขึ้น และอีกด้านหนึ่งที่คิดว่าสำคัญเพราะมีโอกาสในการทำงานในภาคนโยบายที่มีผลต่อชีวิตคนอื่น เช่น การทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะฉะนั้นหน้าที่ที่ตรงธรรมไม่ใช่การทำหน้าที่ของเราเองเท่านั้น แต่จะต้องเป็นการทำงานที่มีผลกับคนอื่นให้ตรงธรรมมากขึ้นด้วยเช่นกัน”
การใช้ชีวิตให้ตรงธรรมเป็นสิ่งที่สำคัญ เราพูดกันในหอจดหมายเหตุพุทธทาส เราจะทำอย่างไรทำให้เกิดนโยบายที่จะให้เป็นธรรมะนิยมให้ได้ เพราะจะทำให้หลายอย่างตรงธรรมให้ได้และไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น
การทำธรรมนิยมสู่ระดับนโยบาย
แม่ชีศันสนีย์
สนใจที่จะทำให้เรื่องธรรมะไปอยู่ในระดับนโยบาย หรือเป็น“ธรรมนิยม” ที่จะทำให้พวกเรามองเห็นสิ่งที่เรามอง และพยายามมาทุกยุคทุกสมัยและก็เป็นความพยายามที่ไม่ใช่เรื่องระดับปัจเจก แต่จะต้องเริ่มต้นในระดับปัจเจกกันก่อน ทุกคนต้องใช้การงานเป็นฐานของการฝึกเพื่อจะได้เห็นว่าธรรมะศักดิ์สิทธิ์ เพราะถ้าตัวเราเองยังไม่เห็นว่าธรรมะศักดิ์สิทธิ์เราคงไม่ผลักดันอะไรที่เราเองก็ยังไม่เห็นผล เช่นครูบาอาจารย์ที่ท่านทำมาในสมัยที่เรายังมีโอกาสได้ร่วมงานกับท่าน อย่างคุณแม่ก็ยังมีโอกาสได้เจอท่านพุทธทาสยังแข็งแรงจนท่านละสังขารแล้ว เราก็ยังรู้สึกว่าครูบาอาจารย์ที่ทำหน้าที่เป็นสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็จะทำให้พวกเราเห็นว่ามันยากอย่างไร มันจะสำเร็จตรงไหน มันก็คือการมีปัจจุบันขณะ ในขณะที่เราได้เป็นนักทดลองแล้วเราก็ศรัทธาต่อสิ่งที่เราได้ทดลองว่าคนรุ่นเก่ารุ่นใหม่มันต้องศรัทธาตัวเองอย่างนี้
ถ้าเรามีเด็กเจเนเรชั่น เช่น อัลฟ่า เขาไม่ได้เห็นว่าตัวเขาต้องออกไปปฏิบัตินอกจากชีวิตประจำวันของเขาเลย นอกจากวิถีชีวิต เราอาจไม่เซอร์ไพรส์แล้ว เพราะเราอาจเห็นการปฏิบัตินั้นในวิถีชีวิตของเรา
“ถ้าเรามองการปฏิบัติหรือการทำงาน “โลก” กับ “ธรรม” มันแยกออกจากกัน มันจะยุ่ง”
ซึ่งคุณแม่มองไปตามในบทบาทที่เราไม่ใช่ผู้บริหารในองค์กรใหญ่ หรือสังคมต้องมีโครงสร้างของรัฐบาลหรือการเงิน หน้าที่ของพวกเราที่เข้าในฐานะของคนบวชเรียนคือการทำให้ชีวิตมีอิสระจากทุกข์ ชาวบ้านก็เหมือนกัน ทำงานก็ต้องมีเป้าหมายเช่นกัน ทำงานไปทุกข์ไปก็ตกนรก งานของชาวบ้านคือเป็นอิสระจากทุกข์ ไม่ใช่ทุกข์แค่ทางกาย แต่เป็นทุกข์ทางใจ
อย่างโควิด-19 ทำไมเราจะดีใจเมื่อตอนตรวจแล้วเราไม่เจอ แต่ตอนที่เราเจอเราเสียใจ ทำไมเราไม่ตั้งคำถามกระโดดข้ามไปเลยว่า เราจะอยู่กับสิ่งนี้อย่างไร อย่างไม่ทุกข์ ก็จะเป็นวัคซีนของสังคมทั่วไปเลยว่าใครจะมาก่อนเบื้องหน้าเบื้องหลังของการมาของวัคซีนเป็นอย่างไร ธรรมะทำให้เราเดินตรง ก็เลยทำให้เราไม่ต้องไปเดินอ้อม ก็เลยทำให้พวกเรามีการเดินสั้น เดินลัด แต่จริงๆ คือการเดินตรง เราอยู่บนมรรคา เรามีปัญญามีศีลสมาธิ มีมรรคจิตมรรคภาวนา เราก็เดินตรงไปโลกธรรมก็ทำให้เราอยู่ด้วยกัน อยู่กับโลกเราก็เข้าใจโลก ไม่เปื้อนโลก เราละได้วางได้ในบางเรื่อง สังคมก็จะเป็นในลักษณะธรรมนิยมที่นำไปสู่การปฏิบัติได้เลย
“ปฏิจจสมุปบาทที่ท่านพุทธทาสได้ศึกษา เราถึงได้สะดุ้งเพราะทำให้เห็นว่ามีธรรมะที่จับต้องได้ สามารถพิสูจน์ได้ว่าการปฏิบัติไม่จำเป็นต้องแยกออกจากวิถีชีวิตปัจจุบัน ธรรมะคือการทำหน้าที่อยู่ตรงนี้ สำคัญสุดคือทำให้เราตามจิตรู้จิตต่อ จนกระทั่งเรามีหิริและโอตัปปะแข็งแรง ละอายและเกรงกลัวที่จะปล่อยให้จิตของเราไปฟุ้งซ่านอยู่กับอดีตหรือวางแผนกับอนาคตมากเกินไป”
ทุกครั้งที่เราวางแผนโดยที่เราไม่ได้เตรียมจิต เราจะวางด้วยความคาดหวัง ขุ่นมัว ฟุ้งซ่าน แต่ถ้าเราวางแผนด้วยจิตที่เป็นสัมมาสมาธิ คือบริสุทธิ์ตั้งมั่นควรกับการงานได้เมื่อไร เราจะเห็นได้ว่าปัจจุบันขณะเราจะมั่นคง มาจากพื้นฐานของคำว่าบริสุทธิ์ ตั้งมั่นควรกับการงาน ควรแก่การคิด พูด ทำ ก็เป็นงานของมนุษยชาติในปัจจุบันของเรา สุดท้ายเราก็จะพบว่าธรรมะศักดิ์สิทธิ์อยู่ตรงนี้เอง ไม่ใช่อยู่ที่พิธีกรรม แต่ศักดิ์สิทธิ์อยู่ที่ความตั้งใจมั่นที่จะทำให้สำเร็จ ไม่ใช่เป็นความทะเยอทะยานหรือเป็นความเฉื่อย แต่คือการรู้หน้าที่และไปให้สุดของการรู้หน้าที่นี้
ถ้าเราบอกว่าพรรษานี้เรามาอธิษฐานพรรษากันเพราะเรามีดวงตาเห็นธรรม ถ้าโจทย์บอกว่าเราจะมีดวงตาเห็นธรรมที่หมายถึง สิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเราเห็นเป็นธรรมดา และสิ่งหนึ่งดับขึ้นเป็นธรรมดา เราก็ทุ่มเททำตรงนี้ หรือทุกบริบท บทบาทในสิ่งสมมุติที่เรากำลังเป็น นักบวชหรือไม่ใช่นักบวช คนรุ่นใหม่รุ่นเก่า ธรรมะมันศักดิ์สิทธิ์์ในทุกยุคทุกสมัย นี่คือธรรมะนิยมที่อยากเห็น ไม่ใช่สิ่งที่ใครสร้างเป็นกรอบนั้นแล้วเราก็วิ่งไปตามกรอบนั้น แต่เราเห็นบริบทของการทำหน้าที่ทุกลมหายใจเข้าออก เจริญอานาปาสติทำให้มาก สติปัฏฐาน 4 ก็สมบูรณ์ โพธิปักขิยธรรม 37 ก็อยู่ที่ตรงนี้ มาเป็นชุดเลย จนกระทั่ง มรรค 8 นี้ก็เป็นธรรมที่โน้มเอียงไปสู่การบรรลุธรรม การเข้าถึงนิพพาน ถ้าการพูดถึงนิพพานเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ ไม่พูดก็ได้ แต่ทำให้สงบเย็นก็เป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้นอย่าไปทะเลาะกันเรื่องเปลือก
ถ้าเราเป็นผู้บริหารตัวเราในระดับปัจเจก แล้วเรามีธรรมะเป็นวิถีชีวิตของเรา มันก็จะเกิดสังคมที่เป็นธรรมนิยมได้เลย ที่ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเอง ทั้งของคุณแม่หรือรัฐบาลไหนก็ได้ ยุคไหนก็ได้ เพราะทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองโดยสำนึก เพราะมีหิริและโอตัปปะที่เราจะละอกุศลเลย จริงๆ ชีวิตเราอยู่คนเดียวไม่ได้ วันนี้เรามองเห็นแล้วสะดุดใจ วันที่เราไปสัมภาษณ์คนแก่ที่กำลังเครียดกับโควิด เราก็หาทางออกให้ท่านไม่ได้ เรากำลังมองว่าต้องให้ใครมาตอบโจทย์เรื่องเหล่านี้ให้เรา ตอนนี้กำลังตั้งคำถามไปกับการทำงานของสื่อเลย ถ้าจะพูดกันจริงๆ
เมื่อ 2 วันก่อน ที่เราจะต้องช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ พยาบาลที่ Burnout หรือเหนื่อยล้า เขายอมรับแล้วว่าเขากำลังจะหมดไฟ จะเข้าไปสู่การหมดแรง เริ่มซึม สังคมด่านหน้ากับโควิด-19 เราเป็นอย่างนี้ เราจะบอกว่าธรรมะคือการทำหน้าที่อย่างไร จึงทำคลิปออกไปแล้วส่งกลับไปที่อธิบดีกรมสุขภาพจิต เรื่องที่จะทำอย่างไรที่บุคลากรทางการแพทย์ และพยาบาล Burnout สิ่งนี้ทำให้เรารู้สึกว่า เราก็จะป้องงกันตัวเอง อยู่ใน Guard ที่ดีแล้วไม่ออกไปไหน เราไม่เป็น แต่สถิติของการเป็นมันพุ่งพรวดพลาดมาก เพราะความไม่รู้ ความตระหนกตกใจ เป็นต้น แต่สุดท้ายธรรมะจะออกมาช่วยอะไร ที่เป็นรูปธรรมที่ไม่ได้หนี ไม่ต่างคนต่างไปปฏิบัติแล้ว แต่ต่างคนต่างอยู่ และจะอยู่อย่างไรที่ไม่ตายทั้งเป็น แต่การประชุมออกมาแล้วว่าให้ช่วยบุคลากรกำลัง Burnout และกลุ่มที่ทำงานเพื่อหมอพยาบาลนั้นยังนึกถึงประชาชนและบอกว่าขอให้ช่วยประชาชนที่กำลัง Burnout ด้วย
เราต้องเอากลับมาคิดแล้ว ธรรมะจะช่วยอะไรได้กับทุกๆ คน ธรรมะจะเข้าไปรับใช้อย่างไรได้ ธรรมะจะศักดิ์สิทธิ์ได้อย่างไร ต้องกระโจนเข้าไปเรียนรู้ด้วยกันอย่างมีฉันทะ รายการวันนี้อย่าคิดว่าจะไม่เป็นประโยชน์เลย แต่มันจะสงบเย็นและเป็นประโยชน์อย่างไร คนได้อยู่กับโลกอย่างเข้าใจโลก และอยู่กับธรรมะ มาเปลี่ยนวิถีชีวิตตัวเองที่เคยมักง่ายประมาทขาดสติกับชีวิต เราอาจจะมีคนฟังไม่เยอะ แต่ในความไม่เยอะก็เป็นคนจริงเสียเป็นส่วนใหญ่ที่อยากจะหลุดพ้นหรืออยากมีดวงตาที่เห็นธรรม บางทีเรายกมือกันเยอะๆ แต่เป็นการเยอะที่เป็นแบบสัมมาทิฏฐิ มีคนที่เริ่มมีสัมมาทิฏฐิแล้วค่อยๆ เริ่มเกาะกลุ่มดูแลกันเกื้อกูลกันไม่ทอดทิ้งกัน อย่างนี้ก็น่าจะเรียนว่าธรรมะคือการทำหน้าที่แล้ว
สิ่งที่ธรรมะคือหน้าที่และจะช่วยสังคมได้
ดร. วิรไท
“สิ่งสำคัญในภาวะที่เราต้องเผชิญกับโควิด-19 การใส่หน้ากากอนามัยหรือวัคซีน อันนั้นคือการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย แต่สิ่งที่ธรรมะจะช่วยได้มาก นั่นคือ การสร้างภูมิคุ้มกันทางด้านจิตใจ เป็นเรื่องสำคัญ การที่เราตระหนัก เข้าใจในข้อเท็จจริงของชีวิตและการทำงานของจิต รวทั้งการปฏิบัติภาวนา จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจได้เยอะ”
เหมือนกับการสร้างภูมิคุ้มกันทางร่างกายที่มีหลากหลายวิธี ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละคน และเป็นสิ่งที่เราต้องช่วยกัน และหันมาใส่ใจมากขึ้นที่จะทำให้มาช่วยการสร้างภูมิคุ้มกันทางด้านจิตใจ เหมือนที่คุณยายจ๋ากำลังจะช่วยแพทย์พยาบาล และคนในสังคมที่กำลัง Burnout ก็มีความสำคัญไม่น้อยกว่าการฉีดวัคซีนเลย ที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันทางด้านจิตใจให้เข้มแข็งมากขึ้น
แม่ชีศันสนีย์
ต้องขอบคุณเลยที่เราจะไม่ทอดทิ้งกันในช่วงเวลาที่เรากำลังออกศึกแบบนี้ พวกเราไม่ได้คิดว่าใครคือศัตรูหรือใครเป็นข้าศึกเลย
"เรากำลังถูกเตือนแบบที่ไม่มีใครเตือนมาก่อนในยุคเรา ว่าสิ่งที่เคยมีเคยเป็นมาก่อน วันหนึ่งจะไม่มี จะไม่เป็น สิ่งที่เคยเป็นปกติสมัยเราที่ไม่เคยรู้เลยว่า เราหลงทาง แต่เราคิดว่ามันปกติ เราให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจ เราให้ความสำคัญกับการเป็นคนรวย เราให้ความสำคัญกับคนที่ประสบความสำเร็จเมื่อเราเป็นที่หนึ่งในสังคมที่มีการแข่งขัน พอวันหนึ่งไม่ได้แข่งขันกันเรื่องเหล่านี้แล้ว มันเป็นการแข่งกับตัวเองที่จะเอาตัวเองรอด เราจะต้องกลับมามองสถานการณ์นี้อย่างไม่ขาดทุน แล้วไม่ทิ้งการจากไปของโควิด-19 แบบสูญเปล่า หรือไม่ถอดองค์ความรู้ที่จะให้มนุษยชาติไปทำงานเชิงรุก นั่นคือการทำงานเชิงป้องกัน”
อันนี้เป็นโจทย์ที่พวกเราเอง ถ้าพอมีเวลาช่วงล็อกดาวน์ได้ทำงานเชิงใคร่ครวญดู อย่าไปรู้สึกว่า เดี๋ยวมันก็ผ่านไป เราจะผ่านไปด้วยกัน สู้ๆ นะ อันนั้นก็เป็นกำลังใจอย่างหนึ่ง แต่เรากำลังสู้อยู่กับอะไร สู้อยู่กับใครมันสู้กับบริบทที่เราจะต้องกลับมาด้านในหรือเปล่า ที่เราจะถามตัวเองว่าอะไรคือเป้าหมายชีวิตของเรา อะไรคือเป้าสำเร็จของการทำหน้าที่ของเรา
คุณแม่เคยพบกับผู้ว่าการแบงก์ชาติหลายคน บางคนยิ้มไม่ออก คุณแม่ถามไปว่าเราเคยยิ้มให้กับตัวเองบ้างหรือเปล่า เราเคยรู้สึกมั้ยว่าเรามีชีวิตไว้ให้กับตัวเราด้วย บางทีไม่รู้ว่าไปแบกอะไรก็ไม่รู้ ค่าเงินบาท บางทีเราลืม มันเยอะเสียจนเราไปเชื่อเรื่องการตัดสินของคนอื่นมากไปหรือเปล่า ก็รู้สึกเห็นใจ ถ้าเรามีบทบาทอยู่ในบริบทตรงนั้น เราจะผ่านสถานการณ์อยางนั้นได้อย่างไรว่า “โลกกับธรรมไม่ได้แยกจากกันเลย” แล้วธรรมะก็ง่ายๆ แบบนี้ มรรคก็เป็นเรื่องง่ายๆ อย่างนี้ ที่หอจดหมายเหตุก็ทำธรรมะเป็นเรื่องสมัยใหม่หรือเรื่องของหนุ่มสาว เข้าถึง และดีใจที่เรื่องเหล่านี้เริ่มจากคนรุ่นเก่าและกำลังส่งไม้ผลัดต่อให้กับคนรุ่นใหม่จริงๆ มาถึงขั้นคนเจเนเรชั่นอัลฟ่าที่การบรรลุธรรมก็ต้องเป็นในแบบคนรุ่นแขา
เราควรยิ้มให้กับตัวเอง
ดร. วิรไท
เรื่องการยิ้มให้กับตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ และทำมาตลอด ถือเป็นเทอร์โมมิเตอร์อันหนึ่งเลยในการทำงานเลยว่าเรามีฉันทะหรือเปล่า และสามารถที่จะเอาธรรมะมาใช้กับการทำงานและการบริหารจัดการองค์กรได้อย่างไรบ้าง เพราะการทำงานต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนอยู่ตลอดเวลา อย่างโควิด-19 เป็นเพียงหนึ่งปัญหาที่เราต้องเผชิญ ซึ่งเรายังต้องเผชิญอีกเยอะ ยังมีปัญหาเรื่องโลกร้อน จะเป็นเป็นเรื่องใหญ่มากที่กระทบกับคนไทย การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เรื่องการเมืองโลกที่จะเข้ามากระทบได้ง่าย แม้สหรัฐจะทะเลาะจีนเราก็กระทบ ซึ่งเรายังต้องเจอสิ่งที่คาดไม่ถึงกันอีกเยอะมาก
เมื่อก่อนที่เราเป็นผู้บริหาร ต้องทำแผนงานแล้วก็ต้องเดินไปตามแผนที่วางไว้ แต่ความจริงแล้วธรรมะคือ เราไม่สามารถไปควบคุมปัจจัยภายนอกได้ แม้กระทั่งตัวเราเองบางครั้งเรายังควบคุมไม่ได้ เราจะอยู่ในโลกที่สับสนวุ่นวาย ศัพท์สมัยใหม่คือโลกที่เป็น VUCA ได้อย่างไร (VUCA เป็นคำย่อภาษาอังกฤษ Volatility-ความผันผวนสูง Uncertainty-ความไม่แน่นอนสูง Complexity-ความซับซ้อนสูง และ Ambiguity-ความคลุมเครือ)
แต่ธรรมะจะช่วยเราได้เยอะ จะเข้าใจการเปลี่ยนแปลง เข้าใจวิวัฒนาการ ก็จะสามารถทำให้เราได้ละวางได้เร็ว และสามารถให้เรามองโลกได้ตรงธรรม และสามารถที่จะคลายความกังวลและหาทางออกให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งหลายครั้งเราจะไปเสียเวลากับตั้งคำถามว่าทำไมไม่เป็นไปตามแผนที่ออกแบบและวางแผนคิดนโยบายไว้ เหมือนยังมองโลกเก่าว่าทำไมไม่เป็นในแบบที่เราอยากให้เป็นแล้วไม่อยากไปหาคำตอบ
“ความจริงถ้าเราเข้าใจว่าโลกมันเปลี่ยนแปลง โลกเป็นอนิจจัง ก็สามารถทำให้วางและปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ศัพท์สมัยใหม่คือ ธรรมะช่วยให้เรามี Agility ที่จะช่วยให้เราสามารถรับมือกับโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงขึ้น”
ธรรมะคือหน้าที่สำคัญมากกับงานที่ต้องทวนกระแส
ขณะที่อีกด้านที่ช่วยได้เยอะมากของชาวธนาคารกลางหรือคนที่ทำนโยบายสาธารณะ ซึ่งงานหลายอย่างถือเป็นงานที่ “ทวนกระแส” อาจคล้ายกับงานที่คุณยายจ๋าทำ คืองานเผยแพร่ธรรมะ ก็เป็นงานทวนกระแสในอีกมิติหนึ่ง ทำไมที่มองว่าเป็นงานทวนกระแส เพราะว่าหน้าที่ของธนาคารกลางคือหน้าที่ของการรักษาเสถียรภาพ ถ้าดูง่ายๆ คือ จะทำอย่างไรที่ไม่ทำให้ฟองสบู่โตขึ้นๆ เพื่อไม่ให้ระเบิดขึ้นมาสักวันหนึ่ง และจะทำให้เกิดผลกระทบกับทุกคนเหมือนตอนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่ฟองสบู่เป็นสิ่งที่ทุกคนมีความสุขเช่น ตอนที่เกร็งราคาหุ้นหรือราคาบ้าน ราคาหุ้นกับราคาบ้านก็สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ทำไมแบงก์ชาติต้องเข้ามาขวางตรงกลางและทำให้ราคาไม่สูงขึ้นไปแบบที่คนอยากจะให้เป็น เหมือนตอนนี้ราคา Bitcoin หรือ Crypto ที่ราคาขึ้นไปสูงๆ ก็เป็นหน้าที่ของธนาคารกลางที่ต้องสื่อสาร ออกมาอธิบายข้อเท็จจริงว่าคืออะไร พื้นฐานคืออะไร และก็ต้องมากำกับดูแล เพราะงานของเราคืองานทวนกระแส ก็ต้องรับกับความไม่พอใจของคนรอบด้าน โดยเฉพาะคนที่หวังประโยชน์จากที่ฟองสบู่ที่ค่อยๆ ใหญ่ขึ้น
“การที่เราสามารถมีภูมิคุ้มกันทางด้านจิตใจที่ดี รู้ว่าสิ่งที่เราทำ ทำไมถึงต้องทำ ประโยชน์ของการทำนโยบายทวนกระแส นโยบายรักษาเสถียรภาพคืออะไร ก็จะสามารถทำให้เราตัดสินใจได้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ส่วนรวมในระยะยาว และสำหรับผมนั้น เมื่อได้ศึกษาว่าธรรมะมากขึ้น และเข้าใจว่าชีวิตคืออะไร ทำให้เราสามารถเอาหมวกที่เราสวมอยู่นั้นถอดออกได้ แล้วก็เข้าใจว่าชีวิตคืออะไร ไม่ได้ยึดมั่นกับตัวตน ไม่ยึดมั่นกับหมวกที่เรามี การตัดสินใจจึงสามารถมองว่าเป็นการตัดสินใจเพื่อประโยชน์ส่วนรวมได้”
หลายอย่างที่เราเห็นในการทำนโยบายสาธารณะ ถ้าเริ่มเอามาตีกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ประโยชน์ส่วนตนอาจไม่ได้แปลว่าคอรัปชั่น แต่ถ้าเริ่มคิดว่าถ้าเราตัดสินใจผิด จะเป็นอย่างไร จะโดนฟ้องคดีหรือไม่ หรือเราจะทำอย่างไรต่อ แล้วทรัพย์สินที่จะเกี่ยวข้องกับลูกหลานจะเป็นอย่างไร ถ้ามีเรื่องพวกนี้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจที่จะเป็นกลางหรือเอาประโยชน์ส่วนตัวเป็นตัวตั้งนั้นก็อาจจะโอนเอนได้ และจะทำให้สิ่งที่จะเป็นประโยชน์สูงสุดกับส่วนรวมก็อาจจะไม่ได้เกิดขึ้น
"ที่แบงก์ชาตินั้นเราโชคดีที่มีคนที่สนใจเรื่องการปฏิบัติธรรมเยอะมากและมีชมรมศึกษาและปฏิบัติธรรมต่อเนื่องมากว่า 10 ปี ทำให้พวกเราชาวแบงก์ชาติหลายคนทีเดียวที่สามารถเอาธรรมะมาใช้กับการทำงาน และทำงานในลักษณะที่ทวนกระแสได้ นโยบายที่แบงก์ชาติปฏิบัติจะพยายามเอาธรรมะที่ปฏิบัติให้ออกมาเป็นนโยบายที่ตรงธรรม และเป็นนโยบายในวงกว้างมากขึ้น"
แม่ชีศันสนีย์
"ถ้าสังคมหรือมีองค์กรที่ให้ความสำคัญกับเรื่องภาวนา การปฎิบัติดีปฏิบัติชอบมันจะส่งผลต่อความตระหนักรู้นี้ออกไปในการดูแลสังคม มากกว่าการเห็นแก่ตัวของเราที่ดูแลเฉพาะพวกพ้อง"
ถ้าวันนี้เราอธิบายให้เด็กๆ เขารู้สึกได้ถึงความภาคภูมิใจว่าการที่ได้เราได้อาศัยธรรมะส่งต่อกันมาจากรุ่นแล้วรุ่นเล่า จริงๆ ธรรมะไม่มีเจเนเรชั่น ยุคไหน หรือล้าสมัย 2500 กว่าปี พระพุทธเจ้าก็พูดเรื่องอริยสัจ 4 พูดเรื่องอริยมรรค มีมรรค 8 เป็นหนทางมีเป้าหมายการพ้นทุกข์ กี่เจเนเรชั่นมีความชัดเจน มีลูกแบบนี้ คนจะเดินในทางอันประเสริฐนั้น ในยุคสมัยหรือสิ่งสมมุติของตัวเองในขณะนั้น ที่จะร่วมสมัยของบริบทของตัวเอง ว่าเรามีหมวกใบนี้ เช่น เราเป็นผู้ว่าแบงก์ชาติ คนแบงก์ชาติมีการปฏิบัติภาวนา ที่ทำให้เห็นว่าการตัดสินใจบางอย่าง หรือการตัดสินใจที่เห็นแก่พรรคพวกหรือผลประโยชน์มันน้อยลง มีความละอายมากขึ้น