ถอดรหัสผู้นำในภาวะวิกฤติ - ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร
อัปเดตเมื่อ 21 มิ.ย. 2563

“เรายังอยากทำงานเพื่อสังคม และกำหนดนโยบายสาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อทุกคนในสังคม คอนเซ็ปต์คือ ทำงานเหมือนไม่มีวันพรุ่งนี้ เพราะถ้าเป็นอะไรไปพรุ่งนี้ก็ไม่รู้จะทำความดีได้อย่างไร เลยทำความดีตั้งแต่วันนี้ เราโชคดีเราตื่นขึ้นก็ขอให้รู้ไว้ว่าปัญหาได้หมดไปแล้ว พรุ่งนี้ก็จะสดใส พายุมา ฟ้าก็จะใส ถ้าเราคิดอย่างนี้เราก็จะมีกำลังใจและมีแรงต่อการทำทุกอย่าง ปัญหาและอุปสรรคก็ไม่ใช่ปัญหาของเรา แต่เป็นที่ท้าทายให้เราเผชิญและต้องก้าวข้ามไปได้”
Exclusive Talk
วันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน 2563 เวลา 10.00 - 11.30 น.
หัวข้อ "Leadership in Crisis Management"
แขกรับเชิญ-ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง
ดำเนินรายการ-คุณสุวภา เจริญยิ่ง อุปนายกนักวางแผนการเงินไทย
Exclusive Talk ครั้งนี้ถือว่าได้รับเชิญจากแขกคนพิเศษ ท่านผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางที่จะมาแบ่งปันประสบการณ์การเป็นผู้นำในการนำพาให้ฝ่าวิกฤตครั้งสำคัญการช่วยชีวิตเด็ก 13 คนที่ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนว่าห้วงเวลานั้นใช้หลักและแนวคิดการบริหาร การวางกลยุทธ์แบบฉบับผู้นำอย่างไรกับสถานการณ์ที่คนทั่วโลกต่างเบนเข็มความสนใจติดตามข่าวครั้งนี้ ท่ามกลางภาวะความวุ่นวายที่เกิดขึ้นมากมายตลอดระยะเวลา 18 วัน จากคนนับหมื่นคนที่เข้าไปอยู่ในสถานที่ดังกล่าว โดยที่ต่างไม่มีใครจะรู้คำตอบหรือบทสรุปดังกล่าว รวมถึงแนวคิดการวางแนวทางป้องกันของอุบัติการณ์ที่เกิดใหม่อย่างโควิด-19 ครั้งนี้
ความหมายของคำว่าวิกฤต
คนมองและตีความแตกต่างกัน บางคนมองว่าเป็นเรื่องปกติที่อาจจะเข้มข้นและรวดเร็วมากขึ้น แต่จริงๆ ในยามสภาวะวิกฤต คำว่า “วิกฤต” หมายความว่า
“ความเป็นกับความตายมันห่างกันแค่เส้นบางๆ นิดเดียว ถ้าเราตัดสินใจผิด ก้าวผิด จะทำให้เราหลุดไปสู่ในเส้นที่เราไม่ได้อยากเข้าไปในนั้น”
เช่นตอนนี้เราติดอยู่ในภาวะโควิด-19 มันเป็นวิกฤต แต่ในวิกฤตมันมีพีคของคำว่าวิกฤต ณ เวลาหนึ่ง เพราะตอนนี้เราอาจดูเหมือนว่าผ่อนคลายลง แต่ถ้าถามว่าตอนนี้คำว่าวิกฤตอยู่ตรงไหน จุดสำคัญที่สุดเลยคือปลายเดือน มี.ค. เพราะวิกฤตคือเราไม่อยากให้เกิดขึ้นในสถานการณ์ปกติ ซึ่งในสถานการณ์ปกติเรามีแผนและเดินไปตามแผน เราสามารถประเมินองค์ประกอบและปัจจัยต่างๆ ได้ว่าถ้าเป็นแบบนี้ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร แต่ในวิกฤตทุกองค์ประกอบและปัจจัยต่างๆ เราไม่สามารถคาดการณ์ได้เลย เศรษฐกิจ โรค แผ่นดินไหว สึนามิ จะเกิดวันไหน เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว เราไม่สามารถที่จะควบคุมอะไรได้ เมื่อวิกฤตเกิดไปแล้วแค่ค่อยมาทำให้สถานการณ์นั้นเบาลงภายใต้การควบคุมของเรา
ถ้าเราจะเผชิญหน้าวิกฤตอย่างมีรอยยิ้ม เราจะต้องมีแผนเผชิญที่ดี
"ในเชิงธุรกิจเชื่อว่าทุกธุรกิจมีแผน BCP แต่จะมีภายใต้ปัจจัยที่เราควบคุมได้ แต่คำว่าวิกฤตนั้นจะหมายถึงสิ่งที่ยังไม่เคยเจอจริงๆ แบบที่เราควบคุมไม่ได้ เช่นโควิด-19 ครั้งนี้ เป็นวิกฤตที่เราควบคุมไม่ได้ ใครเผชิญเหตุได้เร็วที่สุด ใครกลับมาอยู่บนพื้นฐานได้เร็วที่สุดและเดินหน้าต่อไปได้เร็วที่สุด คนนั้นคือคนที่จะอยู่รอดภายใต้วิกฤต”
ย้อนดูการแก้วิกฤตเหตุการณ์ถ้ำหลวงตลอด 18 วัน
ใกล้จะครบรอบ 2 ปี คือ 23 มิ.ย. 2561 ที่เด็ก 13 คนติดถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ที่ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ตอนนั้นประจำการที่ จ.เชียงราย ได้ไปปฏิบัติหน้าที่ 3 อำเภอเพื่อเตรียมความพร้อมตรวจพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อให้ทุกฝ่ายรู้สึกปลอดภัย หลังเกิดเหตุระเบิดค่อยๆ ขยับขึ้นมาทางภาคใต้ตอนบน แน่นอนที่ร่างกายอ่อนล้า จน 23.00 น. เสียงโทรศัพท์เข้ามาว่ามีเด็กหายที่ถ้ำหลวง อ.แม่สาย ซึ่งจากที่คิดว่าเป็นเหตุการณ์ปกติที่บอกว่าให้ส่งคนและทรัพยากรของจังหวัดเข้าไปช่วย เพราะกิจกรรมที่เด็กทำคือเป็นเรื่องปกติที่จะไปฝึกกล้ามเนื้อปั่นจักรยานแล้วเข้าไปในถ้ำ แล้ววันที่เข้าไปก็ยังไม่ได้ถึงกำหนดในการปิดถ้ำตามที่วนอุทยานประกาศปิดวันที่ 15 ก.ค. 2561 แต่ก่อนหน้านี้มีฝนตกตลอดเวลา
แต่เพราะปลายสายโทรศัพท์ได้ทวนจำนวนเด็กที่ติดถ้ำทั้งหมดถึง 12 คน (ตอนแรกแจ้งเหตุ 12 คน) ซึ่งทำให้รู้แล้วว่านี่คือ “วิกฤต” ที่กำลังจะเกิดขึ้น กรณีเลวร้ายสุดหาเด็ก 12 คนไม่เจอเสียชีวิตหมด ต้องเป็นข่าวดังทั่วโลกในเชิงลบว่า ทีมกู้ภัยหรือจังหวัดไม่สามารถดูแลได้ จึงตัดสินใจทันที่ตามรถป้องกันสาธารณภัยด่วนให้มารับ พร้อมเรียกทีมที่พอเอามาได้คืนนั้นโดยบอกให้ไปเจอกันหน้าถ้ำ
พอไปถึงหน้าถ้ำสถานการณ์ร้ายกว่าที่คิดเพราะฝนตกตลอด ไม่มีแสงสว่าง ความชื้นสูงและอากาศหนาวเย็นมากในถ้ำ อุปกรณ์ที่จะช่วยก็ยังไม่มี ผู้ปกครองอยู่ในภาวะเศร้าเสียใจตำหนิที่เจ้าหน้าที่ช่วยไม่ได้ แต่การที่เมื่อผู้ว่าฯ ไปเอง ไม่ต่างอะไรกับซีอีโอลงไปเล่นเอง เหมือนเป็นการหยุดเลือดตั้งแต่นาทีแรกมันจะจบ คืนนั้นจบเพราะผู้ว่าฯ ไปเอง หาอุปกรณ์ไฟฟ้าพ่วงเพื่อปั่นแสงไฟซึ่งเราไม่เคยเจอมาก่อนว่าวิกฤตแบบนี้เราปั่นไฟไม่ได้ เพราะอากาศหน้าถ้ำจะดูดคาร์บอนไดออกไซต์เข้าไปในถ้ำ ทำให้คนที่เข้าไปช่วยในถ้ำหายใจไม่ออก
วิธีแก้ปัญหาคือต้องไปปั่นไฟข้างนอก ทำอย่างไรเสียบไฟปั่นไฟไม่ช็อตท่ามกลางฝนตกเพื่อให้มีแสงไฟในถ้ำให้ได้ตอนตี 2 แล้วส่งคนเข้าไปช่วยตอนตี 4 ทีมบอกไม่ไหว การที่ผู้ว่าฯ อยู่หน้างานทำให้เขาต้องตัดสินใจชัดเจนว่าไหวหรือไม่ ถ้าไหวจะให้เข้าไปช่วยอีกครั้ง แต่ถ้าไม่ไหวต้องถอยมาพัก มันคือ Sense of Leadership ท่ามกลางการเผชิญปัญหาที่ผู้นำคลุกคลีอยู่กับลูกทีม ต้องแก้ปัญหาด้วยกัน ทำให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และผู้ปกครองเชื่อว่าเราต้องการช่วยลูกเขาอย่างจริงจัง
โดยไม่ให้ลูกทีมได้เจอกับผู้ปกครอง นี่คือความละเอียดอีกเรื่องหนึ่ง
“พอในสถานการณ์วิกฤตก็ต้องละเอียดในการตัดสินใจ”
เพราะหากเจอกันแล้วเห็นทีมต้องถอยไปพัก ซึ่งอาจจะโดนบอกว่าทีมละทิ้งหน้าที่ เขาก็จะไม่เชื่อรัฐหรือองค์กรในการแก้ไขปัญหาทันที แต่สำหรับผมเขาล้าเหนื่อย พรุ่งนี้ยังต้องแก้ไข แล้วถ้าเราไม่พร้อม โดยก็ไม่รู้ข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น ก็อาจทำให้เกิดความสูญเสียมากกว่านี้ วันนั้นอาจสูญเสียเด็ก 12 คน แต่ถ้าพร้อมลุยต่อเลยอาจจะสูญเสียมากกว่า 12 คน
“ในฐานะซีอีโอการสูญเสีย 12 คนนั้นเกิดขึ้นไปแล้ว แต่ในการบริหารถ้าบริหารไม่ดีมันสูญเสียมากกว่า 12 คน ก็เท่ากับล้มเหลวในการบริหารงาน ดังนั้นเราต้องพร้อมก่อน”
และไปเคลียร์กับผู้ปกครองให้ใจเย็น ไปซื้อข้าวกล่อง น้ำแข็ง ของขบเคี้ยวให้ใจเย็น โดยยืนยันว่า การปฏิบัติจะไม่สิ้นสุดตราบใดที่ลูกคนสุดท้ายยังไม่ออกมา นั่นคือคำจากซีอีโอ เมื่อผู้ปกครองรับปากโอเคและเข้าใจทั้งหมดตอน 6 โมงเช้า
ถ้าไม่ใช่เบอร์หนึ่งมาคุย การคุยจะยากกว่า เพราะเขาเกรงใจพ่อเมืองและรับปากจะช่วย เขาก็มั่นใจ จนเริ่มเคลียร์พื้นที่วนอุทยานให้สะอาด และวิ่งเข้าจังหวัดงานพิธีที่กำหนดไว้ตอน 8 โมงเช้าเพื่อไปดึงทรัพยากรออกจากงาน เพราะเราเข้าใจสถานการณ์แล้วว่าเหตุการณ์เลวร้ายกว่าที่คิด ไปงานเพื่อไปสะกิด Key Factor จังหวัดแต่ละคนว่า เราต้องมาทำงานร่วมกัน เพราะถ้าให้คนอื่นไปตาม เขาอาจจะไม่เข้าใจบรรยากาศ แต่การที่เรามาจากที่เกิดเหตุจริง ไม่ได้นอนจริงไปสะกิดบอกเขาเอง เขาก็จะเข้าใจสถานการณ์แล้วต่างก็กระโดดมาหน้าถ้ำพร้อมกันเลย
เหตุการณ์เริ่มวุ่นวาย ทำให้ต้องจัดระเบียบ
พอกลับมาหน้าถ้ำข่าวเริ่มแพร่สะพัดไปหมด คนเต็มพื้นที่หน้าถ้ำเหมือนมีงานมหกรรมเกิดขึ้น มีของขาย กองทัพสื่อมวลชน ฯลฯ เมื่อสถานการณ์มันแย่กว่าที่คิดเพียงชั่วข้ามคืน การตัดสินใจที่จะไม่เสียคนไปมากกว่าจำนวนเด็กที่เข้าไป เพราะฉะนั้นจะต้องจัดระเบียบคนที่จะเข้าไปในถ้ำได้ เพราะหน้างานจะมีคนขอเข้าไปในถ้ำเพื่อเข้าไปช่วย ความวุ่นวายจะเกิดขึ้นได้ถ้าไม่จัดระเบียบพื้นที่ ออกซิเจนหน้าถ้ำก็จะไม่มี จึงเริ่มกำหนดตั้งแต่ 1.อายุต่ำกว่า 20 ปี ห้ามเข้าเพราะยังตัดสินใจเองไม่ได้ต้องให้พ่อแม่ดูแล 2.คนจะเข้าถ้ำได้ต้องมีคุณสมบัติที่ต้องได้รับการฝึกมาแล้ว เช่น เป็นกู้ภัยสาธารณะ กู้ภัยจังหวัด ทหาร อาสาสมัคร หน่วยงานที่ถูกฝึกมา หรือเคยมีประสบการณ์เคยเข้าถ้ำมาแล้ว ซึ่งโชคดีที่มีฝรั่งที่เคยเข้าถ้ำมาแล้วมอบหมายเหมือนหัวหน้าชุดพาลูกทีมไปอีก 20 คน
“เป็นความโชคดี ความตั้งใจกับการประกาศจุดยืนที่ชัด เรารับคนที่มีความพร้อม และเริ่มจัดโซนชัดเจน ทีมออกมา 11 โมง ส่ายหัวเข้าไปไม่ได้แล้ว ซึ่งความจริงเดือนนี้ไม่ควรมีน้ำเยอะขนาดนี้ จนหาหลักฐานอีกครั้งรอบ 2 เพื่อพิสูจน์ให้แน่ชัดว่าเด็กเข้าไปในถ้ำจริงๆ จนแน่ชัดแล้วว่าต้องใช้นักดำน้ำมืออาชีพ เพราะในถ้ำสื่อสารไม่ได้เลย มืด น้ำลึก และเย็นมาก จนได้นักดำน้ำมา 18 คน แบ่งเป็น 3 ทีมและเริ่มประชุมแบ่งการตั้งศูนย์”
แผนงานคือหัวใจสำคัญทำให้เห็นวิธีการชัดเจน แล้วก็ต้องมีมากกว่า 1 แผน
การค้นหาหรือการทำงานต้องมีแผน มิฉะนั้นจะทำงานบนความรู้สึก
คนต่างมีประสบการณ์เก่งมากมายจะคิดอะไรก็ได้ และทุกองค์กรมีความเป็นระบบ ไม่เช่นนั้นจะนึกไม่ออกเราต้องทำอย่างไร คิดขึ้นมาคร่าวๆ แต่ต้องได้ตามแผน คือ ภาวะวิกฤตถ้าเราเอาองค์กรปกติไปเผชิญเหตุ จะรับมือไม่ไหว เพราะองค์กรปกติจะเก่งงานฟังก์ชั่นที่แต่ละคนถนัด แต่การเอาคนเก่งหลายเรื่องที่มีโนฮาวมาคุยกันตรงกันต้องมีองค์กรพิเศษขึ้นมา จนมีทั้งหมด 4 แผน
1.ทีมสูบน้ำ-ดำน้ำ ที่ต้องรู้ธรรมชาติเขาตรงนั้น น้ำท่วมก็ต้องสูบน้ำออก เอาเด็กออกมา แล้วค่อยมาคุยว่าแผนนี้ต้องใช้ทรัพยากรอะไร ต้องทำอย่างไรที่จะทำให้ได้อุปกรณ์มาใช้งานได้ครบ น้ำท่วมในถ้ำที่มืดก็ต้องหาคนเดินสายไฟในถ้ำที่ต้องดำน้ำเป็นด้วย แค่นี้โจทย์ก็ยากแล้วในการหาคน จนได้อุปกรณ์สูบน้ำและทีมสูบน้ำจากทั่วประเทศ ที่ต้องระบบเดินสายไฟมาเลี้ยงเครื่องสูบน้ำให้ได้ ต้องมีทีมสูบน้ำทั้งนอกถ้ำและในถ้ำ แต่ต้องจัดทีมใครทำงานตรงไหน เพราะถ้าไม่จัดทีมไม่สามารถมีหัวหน้าที่สั่งคำสั่งได้ก็จะขาดความเป็นระเบียบ รวมทั้งต้องมีทีมดำน้ำมาช่วยเพราะไม่มีวันสูบน้ำหมด จนได้ทีมซีลได้มาช่วย
“การเรียนวิศวกรรมได้มาช่วยตรงนี้เพราะทำให้นึกออกว่า มีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่ต้องเจนเนเรตอร์ใต้เขื่อนเวลาซ่อมไฟซ่อมท่อ ใกล้สุดอยู่ที่อุตรดิตถ์ ตาก พอประสานไปก็ตอบรับพร้อมมากับอุปกรณ์อีกมาก และยังได้ทีมดำน้ำใต้ทะเลจากบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่อีกหลายแห่งที่มีประสบการณ์เชื่อมท่อน้ำมันใต้ทะเลมาช่วย”
ความยากอีกอย่างคือการที่จะเข้าไปช่วยเด็กต้องมีการเปลี่ยนถังออกซิเจนตลอดการดำน้ำเข้าไปช่วย แต่ปกติถังดำน้ำอยู่เพียง 1 ชม. ก็ต้องมีการเปลี่ยนถังและมีโอกาสเสียชีวิตเพิ่มระหว่างเปลี่ยนถังได้ สิ่งที่ต้องทำคือเอาถังไปติดไว้ตลอดผนังถ้ำ แล้วเก็บถังที่หมดแล้ว แล้วก็พยายามสูบน้ำให้ได้ 15 เซนติเมตรไว้หายใจ เพราะจะไม่เสี่ยงต่อการสำลักน้ำ ซึ่งแผนนี้ก็ยากในการปฏิบัติการ
2.เดินบนถ้ำ ที่ปกติภูเขาหินปูนจะมีโพรงถ้ำจำนวนมาก มีอากาศหมุนเวียนได้ มีค้างคาว ซึ่งถ้าหาโพรงเจอก็จะทะลุโพรงไปหาเด็กในถ้ำได้ สรุปมีทั้งหมด 30 ทีมหรือกว่า 500 คน จากการเดินเท้าและร่วมมือหลายฝ่ายตั้งแต่ตำรวจตระเวนชายแดน พรานป่า ทีมรังนก ป่าไม้ กินนอนบนเขา จนเจอโพรงถ้ำกว่า 100 โพรง เจาะไป 20 กว่าโพรง และเจอโพรงที่มีความเป็นไปได้แค่ 2 โพรง แต่เจาะโพรงไปได้ 400 กว่าเมตรก็ต้องหยุด เพราะตอนนั้นเจอเด็กแล้ว ซึ่งทีมนี้ทำงานควบคู่ขนานไปกับทีมที่สูบน้ำและดำน้ำ ซึ่งความจริงยอดดอยกับตัวถ้ำห่างกัน 600 เมตร เราเจาะไปได้ 400 เมตรแล้วเหลือเพียง อีก 200 เมตรจะถึงตัวเด็กเหมือนกัน อันนี้คือความสำเร็จอีกอันของทุกคนที่ทุ่มเท แต่มีคนพูดถึงน้อยมาก
3.หาช่องเข้าถ้ำปลายน้ำ เพื่อดูน้ำเข้าไปอย่างไร เพราะถ้าน้ำเข้าได้คนก็ต้องเข้าได้ น้ำไม่ได้ไหลจากหน้าถ้ำเพราะหน้าถ้ำแห้ง แสดงว่าน้ำต้องไหลจากโพรงต่างๆ และต้องเข้าเร็วมากจนมาปิดทางเข้าที่เข้าไป จนเจอช่องถ้ำที่น้ำเข้าไปเหมือนมีปริมาณจากแม่น้ำ 2 สาย และทางอุตุนิยมวิทยามาคำนวณน้ำที่กักเด็กอยู่ 2.6 แสนลูกบาศก์เมตร เทียบกับตึก 20 กว่าชั้น บน 1 สนามฟุตบอล อีกสักพักน้ำมาอีก 3.1 แสนลูกบาศก์เมตร รวมแล้วเท่ากับปริมาณเท่ากับตึกกว่า 50 ชั้น บน 1 สนามฟุตบอล โดยเฉลี่ยปริมาณน้ำหายเข้าไปในถ้ำวันละ 4.5 หมื่นลูกบาศก์เมตร ซึ่งถ้าไม่สามารถปรามน้ำได้ สูบให้ตายก็ไม่มีวันชนะ วิธีการคือ จะต้องกันน้ำ 4.5 หมื่นลูกบาศก์เมตรไม่ให้เข้าทำ ด้วยการสร้างฝาย 2 แห่งบนดอยเพื่อเบนปริมาณน้ำ 2 สายออกไปทิ้งที่อื่น และต้องใช้อุปกรณ์จากบนเขาไม้ หิน ทำเป็นฝายเพราะเป็นอุทยาน และต้องใช้คนกว่า 1,000 คน แบกท่อน้ำขึ้นไปบนป่า แม้ไปหาที่กันน้ำตรงประตูหลังไม่ได้ แต่ก็ประสบความสำเร็จในการช่วยกันน้ำไหลเข้าถ้ำได้ และทำให้น้ำลดไป 8 เซนติเมตร ช่วยการปฏิบัติงานได้ง่ายขึ้น
4.หาอุปกรณ์ที่รู้ว่าเด็กอยู่โซนตรงไหนก็จะเจาะผนังถ้ำ สรุปต้องตัดแผนนี้ออกมา เพราะเราไม่มีโนฮาวมากเพียงพอที่จะสแกนว่าเด็กอยู่ตรงไหน แม้จะมีอุปกรณ์ช่วย แต่ไม่สามารถขนมาหน้างานได้เพราะหนัก 3 ตัน เขาก็เอียง เซ็ทเลเวลไม่ได้
“เมื่อมีแผนก็ต้องตั้งองค์กรรองรับแผน โดยความยากคือการรีเซ็ทคน และหาคนที่เก่งสุดในเรื่องนั้นๆ มา”
จนรู้ว่ามีนักดำน้ำที่เก่งที่สุดในโลกจากอังกฤษ เขาก็มีทีมหรือสมาคมที่รู้จักไปทั่ว ทำให้เจอคนที่มีอาชีพเดินถ้ำ ถ้ำไหนมีน้ำก็จะฝึกปรือไปเรื่อย ซึ่งเป็นเรื่องที่โชคดีหน้างานมี รมว.มหาดไทย และ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ทำให้เกิดการตัดสินใจได้ง่ายขึ้นในการช่วยจากทรัพยากรที่มีอยู่หน้างานทั้งหมดที่ประสานติดต่อกับทางรัฐบาลอังกฤษ และนักดำน้ำก็พร้อมจะมาทำภารกิจนี้ ซึ่งก็ถือเป็นความท้าทายกับเขาด้วย เพราะเป็นสามารถดำน้ำในถ้ำที่เป็นทั้งการพิสูจน์ฝีมือ และยังช่วยคนได้อีกด้วย
“งานนี้เหมือนเป็น Mission of humanity ของมนุษยชาติ เพราะไม่ใช่เป็นงานของคนใดคนหนึ่งหรือประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นการรวมกันของนักดำน้ำกว่า 20 ประเทศ มี 500-600 คน เดินป่า 500-600 คน คนแบกอุปกรณ์และช่วยกันหน้างาน มากกว่า 10,000 คน”
เมื่อสถานการณ์กดดันรีบให้รีบต้องตัดสินใจเพราะถ้าพลาดหมายถึงชีวิต
เมื่อเจอเด็ก ต้องจัดน้ำอาหาร ยาเข้าไป แต่สิ่งที่ทำคือ เราต้องเข้าไปวัดออกซิเจนทุกวัน หายใจปกติ ออกซิเจน 21 % พอวัดไปเรื่อยๆ เราเหลือออกซิเจน 15 % อาจารย์หมอบอกตรงกันว่าถ้าคนปกติที่มีการเทรนด์อย่างดียังหายใจและมีชีวิตอยู่ได้ 10 % แต่สำหรับคนที่ถูกฝึกมาเหลือเพียง 12 % ก็ยังเสี่ยงเรื่องชีวิต เพราะจะมีอาการเฉื่อย สติจะไม่ทำงานเบลอๆ เพลียมากและหลับไป และมีโอกาสที่จะไม่ฟื้นสูงมาก ตอนแรกคิดว่าแก้ปัญหาตรงนี้ด้วยการส่งปั๊มออกซิเจนจากหน้าถ้ำเข้าไปเพื่อเปิดข้างในเพื่อให้กระจายข้างใน แต่ทำอย่างไรออกซิเจนก็ไม่เพิ่มขึ้น จนระดับออกซิเจนเหลือ 14 % กว่า วิธีที่จะทำได้ดีที่สุดต้องเอาเด็กออกมา เพราะถ้าเหลือ 12 % เด็กที่ไม่เคยถูกเทรนด์เลยเด็กอาจจะอยู่ไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายถึง 13 คน เท่านั้น เพราะยังมีผู้ใหญ่อีก 4 คนที่เสียสละอยู่กับน้องตลอดเวลา สรุปแล้วต้องใช้เวลาอีก 6 วัน ในการจัดทีมเทคนิคเพราะกรมอุตุฯ บอกว่าจะเกิดพายุใหญ่ หน้าถ้ำ จะปฏิบัติอะไรก็ควรทำเพราะเริ่มมีไทมไลน์ข้อจำกัดอื่นมากขึ้น
และตอนนั้นประเมินสถานการณ์ที่เหลือเพียง 2 ทางเลือกในวิกฤต คือ 1. ถ้าออกซิเจนหมด เอาถังเข้าไปแล้วให้ปั๊มออกซิเจนให้กับเด็กทุกวันจากถัง หาเทคโนโลยีเอาถังเข้าไป หรือให้อาหารไปทางนั้น น้ำลดก่อนค่อยเอาเด็กออกมา กับ 2.ทางการแพทย์บอกชัดเจนว่าการที่เด็กอยู่ในถ้ำออกซิเจนมันต่ำ คาร์บอนได้ออกไซด์เข้าไปอยู่ในเลือด และถ้าเลือดเป็นกรดมาก ถึงจุดหนึ่งเลือดจะเข้าสู่ภาวะเป็นพิษ ซึ่งไม่สามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้อีก เป็นเรื่องอันตรายต่อชีวิต
“จากการประเมินสถานการณ์น่าจะเหลือทางเลือกเดียวเท่านั้น สิ่งที่ทำ เหนื่อย สาหัส และคนจับจ้องทั้งโลก ตามทฤษฎีเรามีโอกาสพลาดหากทำไม่สำเร็จ ก็ยังดีกว่าที่จะไปเก็บทุกศพออกมาจากที่เราไม่ได้ทำอะไรเลย แล้วเด็กขาดออกซิเจนและเด็กเลือดเป็นพิษออกมา เราจะเสียใจที่ไม่เลือกทำวันนี้ หรือการที่เอาเด็กออกมาในช่วงที่เด็กยังพอแข็งแรงจะมีความเสี่ยงที่สูงกว่า สุดท้าย ยอมรับว่าต้องไซโคทุกคนเพื่อให้ยอมรับมติเดียวกันก่อน เพราะหน้างานมีหลายคนไม่เห็นด้วย ก่นด่าแม้กระทั่งพูดกับทีมตัวเองอยากจะถอนทีมออกไปเพราะไม่อยากให้เกิดการสูญเสีย และในภาวะวิกฤตจะมีความพีคในวิกฤต ณ ช่วงเวลาหนึ่งเสมอ”
การตัดสินใจค่อนข้างจำกัดเพียง 50 คน ที่เป็นคีย์แมนสำคัญในแต่ละเรื่องที่อยู่ด้วยกันในห้อง ซึ่งทุกคนต้องรู้การตัดสินใจแบบเดียวกันว่าจะปฏิบัติภารกิจอะไร ถ้าเราไม่ตัดสินใจทำวันอังคารที่ 3 ก.ค. มีโอกาสที่จะไปเก็บศพอย่างเดียว เราต้องทำอย่างไรลดความเสี่ยงให้มากที่สุด ถามความมั่นใจแต่ละหัวหน้าทีม ทีมดำน้ำบอกว่าสำเร็จมากกว่า 90% อาจจะมีพลาดไปบ้าง
ก่อนเริ่มปฏิบัติงานช่วยชีวิตต้องดีไซน์ขั้นตอนให้พร้อม
ทุกการตัดสินใจเป็นเรื่องการใช้ข้อมูล information ทั้งสิ้น แล้วก็ต้องดีไซน์ขั้นตอนการปฎิบัติงานให้พร้อม
เมื่อมีนักดำน้ำต่างชาติ 13 คน เริ่มดีไซน์นักดำน้ำ 1 คน ช่วย 1 คน โดยครั้งแรกตัดสินใจเอาเด็กออกตอนกลางคืน 1.เพราะเด็กไม่เจอแสงตะวัน 10 กว่าวัน พอเจอแสงเด็กจะตาบอดทันที 2. อุณหภูมิที่อยู่ 18-20 องศาเซลเซียส ออกกลางวันเขาไม่สามารถอยู่ได้ในอุณหภูมิขนาดนั้น
แต่ผลปรากฎว่าการกู้ชีพจะทำยากมากในตอนกลางคืน จึงขอให้นำเด็กออกในตอนกลางวัน เมื่อแผนเปลี่ยนก็ต้องหาอุปกรณ์ทุกอย่างปิดตาให้แสงสว่างเข้าไม่ได้เลย หาอุปการณ์ที่ทำให้อุณหภูมิร่างกายอุ่นขึ้นจนมาข้างนอกอุณหภูมิร่างกายปรับสภาพได้ไม่ระคายผิว หาผ้าเจลพิเศษเพื่อให้ความร้อน หรือผ้าปิดตาไม่มีแสงเข้าได้เลย หรือห่อฟรอยด์ไม่ให้หุ่นเขาเปลี่ยนเลย หน้ากากดำน้ำพิเศษ สั่งเข้ามา 30-40 ชิ้น แต่ใช้หาได้ 5 อัน ถังออกซิเจนไม่พอทั้งประเทศมี 400 ถัง ภารกิจ 3 วัน ต้องใช้กว่า 600 ถัง ร.10 พระราชทานมาให้ทันที 200 ถัง พร้อมอีกหลายอย่าง
และที่สำคัญอันนี้จะให้ข่าวรั่วไม่ได้ว่ามีทีมปฏิบัติการฝึกซ้อม เพราะคนคงค้านกันครึ่งโลก เชื่อว่าเกินครึ่งต้องการให้เด็กอยู่ในถ้ำแล้วค่อยออกมาเมื่อพร้อม ไม่ใช่ดำน้ำออกมา ทุกขั้นตอนต้องทำอย่างละเอียด การดำน้ำจึงต้องซ้อมตัวจริงหมดยกเว้นเด็ก ที่ต้องพยายามหาเด็กที่มีขนาดใกล้เคียงมากที่สุดเพื่อจะได้ใส่ชุดกันความเย็นได้ ต้องใส่หน้ากากที่น้ำไม่ซึมเข้า หาอุปกรณ์พิเศษ หายใจปกติได้เลย เด็กต้องเอามือไว้ข้างหลังเพราะกลัวเด็กตกใจกระชากทั้งหน้ากากตัวเอง หรือนักดำน้ำ ถ้าเด็กแพนิกจะตายทั้งหมด 4
จริงอยู่ใช้ยานอนหลับค่อนข้างรุนแรง แต่เราใช้ในปริมาณที่น้อยและให้เหมาะสมกับเด็ก เขาจะไม่หลับแต่จะเพียงสะลึมสะลือ ตามแผนหลังสูบน้ำจนมีจุดแห้ง 3 จุด ที่ต้องเปลี่ยนถังออกซิเจน โดยเมื่อถึงจุดเช็กพ้อยท์ต้องมีสติและต้องสามารถวัดชีพจรได้ตามปกติ ถึงจะเริ่มสเตปต่อไป ที่ค่อยเริ่มให้ยาต่อ เพราะถ้าให้เด็กออกมาแบบสลบโอกาสเสี่ยงเยอะที่เขาจะไม่ฟื้นมาก
“นี่คือการบริหารความเสี่ยงอย่างหนึ่ง ที่เมื่อถึงเวลาต้องรับความเสี่ยง แต่จะทำอย่างให้ความเสี่ยงต่ำสุด ด้วยการฝึกซ้อม”
ต้องทำให้การปฏิบัติการนี้คุ้นชินกับระดับน้ำ ในถ้ำมีน้ำระดับไหนในสระน้ำก็ต้องมีระดับนั้น จะไม่โผล่หัวมาเลยเพราะจะชนถ้ำ จะโผล่หัวออกมาเมื่อเปลี่ยนถังออกซิเจน เด็กจะมีความคุ้นชินว่าจะทำอย่างไร ซึ่งตอนแรกตั้งใจให้มาพร้อมกันหมด 13 คนพร้อมกัน เพราะจากการซ้อมการขนย้ายเด็ก ภารกิจชิดกันเกินไปหมอหน้าถ้ำทำไม่ได้ ประกอบกับนักดำน้ำมี 13 คน แต่วันจริงมีนักดำน้ำชาวยุโรปคนหนึ่งที่ต้องเดินทางกลับ เหลือ 12 คน แต่ตอนฝึกกู้มา 13 คน ลดระยเวลาเหลือเป็น 2 วัน 6 กับ 7 คนต่อวัน แต่สุดท้ายเป็นเป็น 3 วัน แบ่งเป็น 4 4 5 เพราะความเสี่ยงในการปฏิบัติจะเกิดขึ้นน้อยที่สุด
แบ่งทีมกู้เป็น 2 ทีม อย่างละ 6 คน ตอนแรกจะทำตั้งแต่จุดเจอจนจุดออกออก ที่มีจุดใหญ่ 3 จุด แต่จุดที่พักได้ 9 จุด ทำให้มี 9 ช้อยท์โดยดำจากจุด 9 ไปจุด 3 ที่รพ.สนามในถ้ำ หยุดตรงนั้น ตอนแรก 6 คนต่อวัน ดำ 1 ต่อ 1 เซฟตี้ 1 ตามมา ที่จะช่วย แต่มองว่าเสี่ยงเกินไปจากจุด 9 ไปจุด 3 ทั้งเรื่องของการให้ยาเด็กที่จะทำให้เด็กฟื้น กลัวนักดำน้ำเสี่ยงจะเหนื่อย และกลัวเกิดอุบัติเหตุ
ให้เบอร์ 1 มากับคนที่ 1 เบอร์ 2 มากับคนที่ 2 นักดำน้ำเป็นเซฟตี้ช่วยมาคู่กัน ชุดนี้จะห่างกันครึ่งชั่วโมง เพราะถ้ามาติดกันแล้วพลาดทางเทคนิคก็พอที่จะช่วยกันได้ คนที่ 1 กับ 1 อีก 10 กว่านาทีจะดำคนที่ 2 ออกมา อีก 15 นาทีเซฟตี้ตามมาพาจุดที่ 6 ไป 3 คนก็จะปล่อยให้กับนักดำน้ำชุดใหม่อีก 3 คนมา ให้เวลาห่าง 40-50 นาที ก่อนที่จะเริ่มซีรี่ส์ใหม่ เพราะถ้าเกิดติดขัดเสียชีวิต 5 คน แต่ซีรี่ส์ 2 จะไม่เสียชีวิต พอซีรี่ส์ 2 เซฟฟตี้จะมาเร็วขึ้นเพราะเขารู้พื้นที่แล้ว
บทเรียนในเชิงบริหาร
“ในสภาวะวิกฤตทำไมต้องมีหลายแผนขนานกัน ย่อมมีต้นทุนมหาศาล เพราะเราแข่งกับเวลาและเล่นกับชีวิตคน ถ้าเราพลาดไม่ได้หมายความว่าจะเสียชื่อเสียงเท่านั้น แต่หมายความว่า 13 ชีวิตจะสูญสิ้นไป ถ้าเราช้าแม้จะเจอเด็ก แต่อาจจะเจอซากของเด็กก็ได้ ในเชิงบริหารแม้จะทำด้วยต้นทุนสูงมาก แต่ก็ต้องทำในเชิงขนานกัน”
การคิดในเชิงการบริหารความเสี่ยงได้ 4 วิธี และเหตุการณ์นี้ใช้หมด ถ้าเราโยนความเสี่ยงให้คนอื่นรับได้หมด เราควรจะโยนความเสี่ยงให้เขารับ เช่น ซื้อประกันรถยนต์ เวลาไปชนรถแพงๆ จะได้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแพง เชิงทำธุรกิจลงทุนด้วยเงินกู้ ระหว่างประเทศ อาจจะซื้ออัตราแลกเปลี่ยนไปสกุลเงินต่างๆ ไปล่วงหน้า ซึ่งเป็นพรีเมียม แต่พอเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริงจะเผชิญความเสี่ยงและมีคนรับแทน เหตุการณ์นี้คือ ใช้การกระจายความเสี่ยงด้วยการแบ่งทีมที่รับผิดชอบ จะได้ไม่มีความเสี่ยงแผนใดแผนหนึ่ง
“เมื่อเราไม่สามารถโยนความเสี่ยงให้คนอื่นได้ เราต้องยอมรับในความเสี่ยงบางประการ จึงต้องทำความเสี่ยงให้ต่ำที่สุด”
ก่อนที่จะดำน้ำฝรั่งพูดเลยว่าก็ไม่ได้มั่นใจเต็มร้อย บอกเลย 50 50 เช่นกัน หมายความว่ารอด 7 เสีย 6 รอด 8 เสีย 5 ก็ไม่ไหว ดังนั้น key factor ต้องทำอะไรหลายอย่างเพื่อช่วยลดความเสี่ยง โดยแผนต้องละเอียด ว่ากันเป็นนาที โดยคนที่เสี่ยงที่สุดคือคนที่ต้องออกคนแรกมีโอกาสจะเสียชีวิต คนเสี่ยงที่ 2 คือ คนที่ 2 และคนเสี่ยงคนที่ 3 คนสุดท้าย เพราะออกซิเจนจะหมด ฝนจะตก น้ำจะท่วม ต้องมีการคำนวณ ยันคนแรกและคนสุดท้าย
ในการบริหารเชิงธุรกิจกับบริหารสถานการณ์ที่จะต้องเลือกการสูญเสียต่างกัน เชิงหมอไทม์มิ่งถ้าเหลือเวลาเยอะให้เอาคนที่อ่อนแอสุดออกก่อน แต่ถ้าไทม์มิ่งน้อยอย่างเหตุการณ์นี้เพราะเราซื้อเวลาด้วยการฝึกซ้อมให้เข้าใจ ไทม์มิ่งจะน้อยลงเราจะต้องเอาคนที่แข็งแรงออกก่อน เพราะคนแข็งแรงโอกาสรอดสูง แต่สไตล์การลำดับการออกเดิมผมเขียนชื่อใส่ซองตามลำดับ จนยังไม่เคยเปิดซองทุกวันนี้ แต่ในเชิงบริหารต้องเลือกจากสภาวะสังคมคือ คนที่ไม่มีพ่อมีแม่เลยเสี่ยงที่สุด เพราะพ่อแม่จะเสียใจน้อยกว่าเพราะอยู่กับญาติคนอื่น จะได้ออกคนแรก และไล่ลำดับความเสี่ยง
โดยวันตั้งใจเริ่มดำน้ำไปช่วยคนแรกตั้งแต่ 7 โมงเช้าแต่เริ่มดำคนแรก 10 โมง เพราะต้องคุยกับผู้ปกครองเข้าใจให้หมด ว่ามีโอกาสพลาดอย่างไร ต้องให้รับรู้ว่าเราทำอะไรกับลูก ต้องให้ผู้ปกครองเซ็นยินยอมทุกคน ถ้าไม่เซ็นคนนั้นจะได้ออกคนสุดท้าย และออกซิเจนใกล้หมด ฝนกำลังจะมา ทำให้ลำดับการตัดสินใจเปลี่ยนไปเพราะทุกคนตัดสินใจเหมือนกัน